บทความ
ยุติการปราบปรามเปลี่ยนเป็นลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดด้วยความสมัครใจ กรณีศึกษาเชียงใหม่ และเชียงราย

ทำไมปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ทุกรัฐบาลหาทางแก้ไขโดยเน้นไปที่การปราบปรามยังไม่หมดไป และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับประเทศ วิธีการจัดการปัญหาที่ผ่านมา พบเห็นโดยทั่วไปใน 2 แนวทาง

  • แนวทางแรก คือ การใช้กฎหมายและการปราบปรามเพื่อลดอุปทาน หรือ ลดผู้ค้าและปริมาณยาเสพติด
  • แนวทางที่สอง คือ การตีความว่าผู้ใช้สารเสพติดคือผู้ป่วยเพื่อส่งตัวเข้ารับการบำบัดที่สถานบำบัด หรือ บังคับบำบัด

การแก้ปัญหายาเสพติดแนวทางแรก เป็นแนวทางที่คนทั่วไปรับรู้จนเคยชินและคล้อยตาม โดยมักมองข้ามข้อจำกัด อาทิ การปราบปรามส่งผลให้มีการจับกุม ดำเนินคดี และมีคนเข้าเรือนจำ จำนวนมาก สถิติของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 พบว่า มีผู้ต้องขังทั่วประเทศจำนวน 301,533 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด 220,574 คน หรือ ร้อยละ 73.15

ผลจากการที่มีผู้ต้องขังจำนวนมาก ทำให้เรือนจำทั่วประเทศเกิดความแออัด ดูแลไม่ทั่วถึง มีปัญหาเรื่องสวัสดิภาพ ที่สำคัญคือราชทัณฑ์ไม่สามารถทำให้ผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมไทยได้มากเท่าที่ควร มีข้อมูลว่า จากผู้พ้นโทษ 10 คนมีถึง 3 คน ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง วนเวียนเป็นวัฏจักรแบบนี้

ข้อน่ากังวลอีกประการคือผู้ต้องขังที่เป็นผู้เสพเมื่อเข้าเรือนจำแล้วและพ้นโทษออก มาก็มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นผู้ค้ารายย่อย เนื่องจากปัจจัย 2 ประการ

ประการแรก ในเรือนจำมีเครือข่ายยาเสพติด การจับผู้เสพยาเข้าเรือนจำจึงเป็นเติมแรงงานให้ขบวนการค้ายาเสพติด

ประการต่อมา ผู้พ้นโทษออกมาโดยเฉพาะคดียาเสพติดมีข้อจำกัดด้านการประกอบอาชีพเพราะถูกตีตรา (stigma) จากสังคม และมีประวัติอาชญากรรม การค้ายาจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด

มีข้อสังเกตอีกประการ คือ การปราบปรามยาเสพติด มักสาวไม่ถึงผู้ค้ารายใหญ่ และมีการยึดทรัพย์ ทำให้วงจรค้ายาเสพติดไม่หมดสิ้นไป ตรงนี้คือจุดโหว่ของระบบราชการไทย

การแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวทางที่สอง แม้จะเป็นการให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดแต่ก็มีข้อจำกัด คือ เป็นการบังคับให้ผู้เสพเลือกว่า จะติดคุก หรือ จะเข้ารับการบำบัด การบำบัดจึงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจริง แถมยังเป็นการบำบัดที่ใช้เวลาจำกัด (21 วัน) เพื่อทำให้ผู้เสพยาเลิกเสพยาอย่างเด็ดขาดและเฉียบพลัน ซึ่งมีโอกาสไม่มากที่การทำเช่นนี้จะประสบผลสำเร็จ และมีข่าวว่าผู้รับการบำบัดหนีออกมาจากสถานบำบัด เพราะมีการใช้ความรุนแรง

มีคำถามว่าแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแล้ว หรือ ไม่ ถ้าประสบความสำเร็จแล้ว ทำไมผู้ใช้สารเสพติดจึงยังไม่หมดไปหรือลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก (ผู้ต้องขังในเรือนจำคือตัวเลขเชิงประจักษ์) โดยประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือ แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร และควรใช้แนวทางอื่นในการจัดการปัญหายาเสพติด

แก้ไขปัญหาผู้ใช้ยาโดยไม่ต้องปราบปราม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice - TIJ) องค์การมหาชน เห็นว่า ปัญหาผู้ใช้สารเสพติดมีความสำคัญ โดยแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทำให้มีผู้ต้องขังในเรือนจำล้นเกิน ซึ่งเป็นภาระต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ในแง่ทรัพยากรมนุษย์ ค่าเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อสังคม และประเทศโดยส่วนรวม

TIJ จึงต้องการนำเสนอวิธีการจัดการปัญหายาเสพติดแนวทางอื่น คือ การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ซึ่งเป็นการปัญหายาเสพติดที่ไม่ต้องปราบปรามและเชื่อว่ายั่งยืนกว่าวิธีการที่ผ่านมา ที่ต้องการกำจัดผู้ใช้สารเสพติดให้เหลือศูนย์ ในบางรัฐบาล เช่น รัฐบาลไทยรักไทย (ปี 2544-2548) ถึงขนาดประกาศสงครามยาเสพติด (Drug war) ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ทั้งจากการถูกฆ่าตัดตอนและวิสามัญฆาตรกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยาเสพติดก็ไม่หมดไป แถมยังมีราคาแพงขึ้น ผู้ค้ายามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอิทธิพลมากขึ้นตามไปด้วย

TIJ จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนเพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึก ในประเด็นการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด โดยพาสื่อมวลชนจากส่วนกลาง 14 ชีวิต ไปยังอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ฟ้าหลวง  จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายนที่ผ่านมา

สภาพปัญหาการใช้สารเสพติดในพื้นที่

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชายแดนห่างไกล ติดกับประเทศเมียนมา ชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลายเชื้อชาติ ชาวบ้านใช้ฝิ่นในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เมื่อมีการทำลายไร่ฝิ่นชาวบ้านจึงหันไปใช้เฮโรอีน ทำให้เกิดปัญหาการใช้เข็มร่วมกันจนติดเชื้อเอชไอวีตามมา ปัจจุบันชาวบ้านยังคงใช้ทั้งฝิ่นและเฮโรอีน รวมถึงมีการใช้ยาบ้า และสารระเหย หลายรายใช้สารหลายตัวควบคู่กันไป

ก่อนหน้านี้มีการบำบัดผู้ใช้สารเสพติดประเภทฝิ่นและเฮโรอีน ด้วยการให้ผู้ใช้ยารับสารทดแทน (เมทาโดน) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ลดอาการอยากยาและอาการถอนยา ทำให้ผู้ใช้ยาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่การให้ชาวบ้านเดินทางลงจากหมู่บ้านบนดอยมาโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลไชยปราการ และโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง เพื่อรับเมทาโดน ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากชาวบ้านต้องเดินทางไปกลับทุกวัน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง และชาวบ้านเกรงกลัวด่านความมั่นคง จึงมีการคิดหาวิธีใหม่เพื่อบำบัดผู้ใช้ยา คือ การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ( CBTx - Community Based Treatment and Rehabilitation)

ชุมชนสันติวนา ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ

หลังจากพัก 1 คืน ช่วงเช้าวันที่ 6 กันยายน 2567 รถตู้คณะสื่อมวลชนล้อหมุนออกจากอำเภอไชยปราการซึ่งเป็นพื้นราบเพื่อขึ้นเขาไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขตำบลสันติวนา ใช้เวลาโยกตัวบนรถราวครึ่งชั่วโมงพอให้เมารถได้เล็กน้อย เราไปรับฟังการบรรยายสรุป จับใจความได้ว่า ที่นี่ใช้การบำบัดรักษาโดยการให้สารเมทโดนทดแทนระยะยาว โดยจ่ายเมทาโดนทุก 4-8 สัปดาห์ ผู้ใช้สารเสพติด หรือ ผู้ป่วย ที่จะรับการบำบัดรักษาต้องเป็นผู้ไม่อยู่ในข่ายใช้ความรุนแรง เป็นผู้ใช้สารเสพติดอย่างเดียว โดยไม่มีอาการจิตเวชร่วมด้วย จุดเด่นก็คือผู้ใช้ยาที่ทางการแพทย์ตีความว่าเป็นผู้ป่วยยังอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้

จุดแจกสารเมทาโดนแบบน้ำจะใช้พื้นที่ของเอกชนในชุมนุมแทนที่ของราชการ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความไว้วางใจ จากเดิมการแจกเมทาโดนจะแจกที่โรงพยาบาลไชยปราการ และจะให้ผู้รับการบำบัดลงมาจากดอยแล้วดื่มเมทาโดนทันที เนื่องจากเมทาโดนเป็นสารที่ต้องควบคุมและสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตยาเสพติดได้ แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้ผลจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง

“เป็นการบำบัดรักษาโดยให้เมทาโดนดูแลควบคุมไปตลอดชีวิต คุณเลิกได้หรือไม่ได้ก็กินเมทาโดนไปเรื่อย ๆ ได้ ไม่เหมือนสมัยก่อน มันจำกัดว่า ภายใน 21 วัน หรือ คุณไปนอนโรงพยายาลเพื่อบำบัดรักษา”

“จริง ๆ กฎหมายก็ควบคุมนะ การจ่ายยาเมทาโดนแต่ละครั้ง ต้องไม่เกินกำหนดอะไร เท่าไหร่ แต่เราไปยึดมั่นตามนั้นก็ไม่ได้ บางคนเสพเฮโรอีนวันนึง 60-70 มิลลิกรัม ถ้าเราจ่ายไม่เกินที่เขากำหนด สมมติ 350 มิลลิกรัม คุณก็ได้แค่อาทิตย์ เดียว มันก็เป็นข้อจำกัด แต่เขาใช้คำว่าไม่ควรเกิน เราก็อาศัยช่องว่าง เราก็สามารถยืนยันว่าเขาไม่ได้เอาไปรั่วไหล พื้นที่ผมไม่มีกินแล้วโอเวอร์โดส (เสพยาเกินขนาด) ยังไม่เจอ มันก็เลยทำได้ต่อเนื่อง จ่ายได้เยอะกว่าที่กฎหมายแนะนำไว้”

“เราต้องทำความเข้าใจพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) เขาจะต้องรับรู้ว่าเราจะทำอะไรกับคนในบ้านเขา จะเกิดผลดี ผลเสียยังไงบ้าง เราก็ต้องฝากเขาดูแลด้วย เพราะยาให้เขาไปแล้วก็พ้นมือเราไป ควบคุมดูแลยากมาก เพราะฉะนั้นต้องฝากพ่อหลวง กฎของหมู่บ้านดูแล”

ภานุ ใจกุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยายาลไชยปราการ

ภานุ ใจกุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยายาลไชยปราการ อธิบายถึงขั้นตอนการบำบัด ภานุคือบุคคลสำคัญในการริเริ่มนำสารเมทาโดนออกจากโรงพยาบาลมาแจกจ่ายให้ผู้ป่วยถึงชุมชน ภานุเป็นชาวจังหวัดพิจิตร สำเร็จการศึกษาสาขาเภสัชกรรม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2538 เริ่มต้นทำงานและตั้งครอบครัวที่อำเภอไชยปราการจนถึงทุกวันนี้ 

คณะสื่อมวลชนเดินทางต่อโดยลัดเลาะตามไหล่เขาอีกราว 10 นาทีจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อไปยังหมู่บ้านสันติวนา ชุมชนที่ประกอบด้วย คนเชื้อสายจีน และ ลาหู่ หรือ มูเซอ โดยได้ไปพบกับผู้ใช้ฝิ่นสองครอบครัวที่ปัจจุบันเลิกใช้ฝิ่นแล้ว หลังเข้ารับการบำบัดด้วยวิธี Harm Reduction โดยการรับสารทดแทน คือ “เมทาโดน”

เราพูดคุยกับครอบครัวของ “จะมู”  ชาวลาหู่ วัย 52 ปี และภรรยา ซึ่งเคยสูบฝิ่นมา 20 กว่าปี พวกเขา เล่าว่า สาเหตุที่สูบฝิ่นตอนแรกเพราะต้องการใช้เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่สูบไปแล้วก็ติด สูบฝิ่นแล้วก็ขยัน ไม่ได้สูบทำงานไม่ได้ กินและนอนไม่ได้ สาเหตุที่เลิกสูบทำเพื่อลูก ครอบครัว และตัวเอง เมื่อคิดได้ว่าสูบแล้วไม่ดีก็ไม่สูบแล้ว

ครอบครัวชาวลาหู่เล่าอีกว่า รับสารเมทาโดนทดแทนเพราะเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเข้ามาพบในหมู่บ้าน บ่อยๆ จึงเกิดความไว้ใจกัน จึงยอมทดลองใช้เมทาโดน แต่ตอนแรกไม่กล้ากินเพราะกลัวช็อคตายเพราะสูบฝิ่นอยู่ด้วย เพิ่งยอมมากินเมทาโดนในตอนหลัง วิธีการคือสูบฝิ่นไปด้วย และกินเมทาโดนด้วย แล้วค่อยๆ ลดการสูบฝิ่น และลดเมทาโดนด้วย

จะมู และ ภรรยา

เห็นได้ว่า การเลิกใช้สารเสพติดต้องมาจากความสมัครใจของตัวผู้เสพเอง ส่วนการรับสารทดแทนเป็นเครื่องมือลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด เนื่องจากผู้ใช้สารเสพติดเมื่อใช้สารไปเรื่อยๆ จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกเต็มอิ่มเท่าเดิม เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเป็นการเสพยาเกินขนาด และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกคนในการบำบัดรักษา คือ พ่อหลวง หรือ ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นตัวแทนฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่

ขณะที่ กิตติพงษ์ ศุภรดีเพชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านสันติวนา เผยว่า การนำลูกบ้านมารับการบำบัดใช้วิธีการเปิดใจและเข้าถึงลูกบ้าน บางคนใช้ยาเล็กน้อยถ้าเราไปขู่เขาจะไม่ให้ความร่วมมือกับเรา โดยก่อนมีการใช้เมทาโดนเป็นสารทดแทนยังไม่มีวิธีทำให้คนเลิกใช้ยาได้ พอไม่สูบฝิ่นก็ไม่มีแรงทำงาน โดยเมทาโดนเป็นยารองรับอาการอยากยาได้

ผู้ใหญ่บ้านบ้านสันติวนา เล่าอีกว่า ทำโครงการมา 10 ปีแล้ว เริ่มโครงการมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษา 77 คน เลิกได้ 7 คน เสียชีวิต 1 คน ที่เหลือหกสิบกว่าคนอยู่ระหว่างการประเมิน บางคนพยายามทดลองว่าไม่สูบฝิ่นแล้ว จะเลิกใช้เมทาโดนด้วยได้หรือไม่ ซึ่งจะประเมินกันเดือนต่อเดือน

เท่ากับว่า ชุมชนมีส่วนสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ส่วนปัจจัยสนับสนุน การเลิกใช้สารเสพติด คือ ที่หมู่บ้านสันติวนามีดินดีน้ำดี สามารถเพาะปลูกได้ผล สร้างรายได้ให้ชาวบ้านจากการปลูกกาแฟและอโวคาโด

กิตติพงษ์ ศุภรดีเพชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านสันติวนา อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่_

ชุมชนสันติคีรีตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง

วันที่ 7 กันยายน 2567 คณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ ศูนย์บริการสุขภาพ (ครอปอิน DIC) กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ชุมชนสันติคีรี ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงราย คือ ดอยแม่สลอง ศูนย์บริการสุขภาพแห่งนี้เป็นจุดรับสารเมทาโดน โดยรับยามาจากโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ที่นี่จะให้สารเมทาโดนแก่ผู้ใช้สารเสพติดทุกวันจันทร์ สารเมทาโดนที่นี่จะมี 7 ประเภท แต่ละประเภทมีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของสารเมทาโดนต่างกัน ตั้งแต่ A ถึง G การให้ยาขนาดไหนขึ้นอยู่กับอาการของผู้ใช้สารเสพติดแต่ละคน ตามการวินิจฉัยของเภสัชกร

สุพรรณี มาเยอะ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง บอกว่า มารับช่วงทำงานต่อในปี 2563-2564 มีผู้มารับสารเมทาโดน 55 คน ผ่านมา 3 ปีมีผู้มารับยา 127 คน ปัจจุบันปี 2567 เหลือผู้มารับเมทาโดน 88 คน ที่เหลือย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือ เลิกใช้สารเสพติดได้แล้ว ในจำนวนผู้มารับเมทาโดน 88 คน มีผู้ใช้เมาทาโดนอย่างเดียว 5 คน ที่เหลือ 83 คนใช้ควบคู่กันไป

“ด้วยความที่แบบเพิ่มพลัง เป็นวิตามินให้เขา เขาจึงเสริมพลัง เป็นแบบควบคู่กันไป มีทั้งเมทาโดนและใช้ยาควบคู่กันไป”

“เป้าหมายไม่ได้ให้แต่ละคนเลิกใช้ยาเลย” สุพรรณี ขยายความว่า “เราตั้งเป้าหมายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด เพื่อไม่ให้ใช้ยาเกินขนาด ดูแลตัวเองได้ และลดปริมาณการใช้ยา คิดว่าเป็นผลสำเร็จ ที่พวกเราตั้งเป้าไว้”

สุพรรณี กล่าวด้วยว่า ขอให้แค่ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ให้เขาอยู่ในสังคม ไม่มีปัญหาอาชญากรรม จี้ปล้นในชุมชน เขาสามารถดูแลตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในครอบครัวของเขา

สุพรรณี มาเยอะ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ในชุดประจำเผ่าอาข่า

หมิง แซ่หลู อายุ 42 ปี ผู้ใช้สารเสพติดประเภทเฮโรอีน ทดลองใช้ยาตั้งแต่อายุ 16-17 ปีแต่ไม่ติด เพิ่งจะมาติดยา 7-8 ปีที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ตั้งใจลดการใช้ยาเสพติดเพื่อตัวเอง การลดใช้ยาเสพติดช่วยตนเองได้เยอะ ในเรื่องค่าใช้จ่าย และหลายอย่าง ก่อนจะมารับเมทาโดนใช้เฮโรอีน 2 หลอด เช้า-เย็น แต่พอมารับสารเมทาโดนใช้เฮโรอีน 1 รอบก็อยู่ได้

“ยาตัวนี้อยู่ได้รอบนึงแล้ว รับแล้วร่างกายดีขึ้น ทำงานได้ด้วย ก่อนหน้านี้ทำงานไม่ค่อยได้เพราะติดยา ตอนนี้ลดลงได้เยอะแล้ว แต่ก่อนอยากยาแต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว”

จากกรณีตัวอย่างที่เชียงใหม่ และเชียงราย พบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จไม่ได้มาจากสารเมทาโดน แต่มาจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง ผู้ใช้ยา ครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคง และคนในชุมชน จะขาดข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งไปไม่ได้

การลงพื้นที่เพียงแค่สองแห่ง แม้ไม่สามารถให้คำตอบสมบูรณ์ได้ว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดด้วยการเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจ และการให้ผู้ใช้ยาอยู่ร่วมกับคนอื่นในชุมชน จะสามารถทดแทน การปราบปรามและการบังคับบำบัดได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยการมีทางเลือกสำหรับผู้ใช้สารเสพติดบางประเภท อาทิ ฝิ่นและเฮโรอีน ก็ยังดีกว่ามีแต่ทางเลือกเดิม ที่ไม่มีวี่แววว่าจะบรรลุเป้าหมายคือทำให้การใช้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศไทย

ส่วนการใช้ยาบ้าซึ่งเป็นสารเสพติดยอดนิยมแม้จะไม่สามารถให้สารเมทาโดนเพื่อเป็นสารทดแทนได้ เพราะยาบ้าออกฤทธิ์ต่างออกไป แต่ถ้ายึดแนวทางลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด พร้อมทำการบำบัดอาการไปด้วยโดยเฉพาะด้านจิตเวช ก็จะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

หมิง แซ่หลู

รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง