บทความ
“ยาเสพติด” แพะในกระแสสื่อและสังคม ยอดนิยมไม่เคยตกเทรนด์และไม่เคยถูกตั้งข้อสังเกต

แม้สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เช่น คดีลักทรัพย์ เล่นการพนัน เสพยาเสพติด คือให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้กระทำความผิด แต่กรณีเฉพาะด้านยาเสพติด หรือการที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างว่า มียาเสพติดเกี่ยวข้อง มักถูก “ตัดความบริสุทธิ์ทิ้ง” โดยละเลยข้อเท็จจริง

ไม่ใช่เพียงแค่ “เสพ” หรือ “ค้า” แต่ถ้ามีชื่อไปพัวพันกับยาเสพติดเข้าแล้ว ล้วนกลายเป็นเรื่องเล่นกับไฟ แต่ไม่ใช่ไฟโดยธรรมชาติ หากเป็นเพลิงพิโรธที่โหมโดยนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐ และนี่คือกรณีตัวอย่างของความล้มเหลวของ “ขบวนการสังหารแพะ” กับ 3 กรณี ที่ยาเสพติดกลายเป็นเพียงข้ออ้าง ระดับ Premium ให้กับผู้คน สื่อมวลชน สังคม และเจ้าหน้าที่รัฐ

(1) แพะตัวแรก ... “ชุมชนอ้าง แก๊งค์ B-Boy รวมกลุ่ม มั่วสุมเสพยา ร้องผู้ว่าแก้ปัญหา โอละพ่อสุดท้ายปัญหาคือเรื่องเสียงรบกวน ชุมชนแค่ไม่พอใจ สุดท้ายได้รับการพัฒนาเป็นลานกิจกรรมเพื่อชุมชน”

แม้ปี ค.ศ. 2024 การเต้น Breakdance (B-Boy / B-Girls) จะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาให้ชิงชัยในโอลิมปิกส์ เกมส์ แต่มีพื้นที่แห่งหนึ่งบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ของประเทศสารขัณฑ์ เคยมีประวัติศาสตร์การพิพาท เนื่องจากเด็กและเยาวชนกว่า 50 คน มารวมกลุ่มกันเปิดเพลง ซ้อมเต้น พฤติกรรมคือ จะมีการรวมตัวกันตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของทุกวัน จากนั้นจะเปิดเพลงที่ชาวบ้าน ร้านตลาด ชุมชน ฟังไม่รู้เรื่องเต้นหัวหกก้นขวิดกันจนสี่ถึงห้าทุ่ม

ทั้งที่ พื้นที่ที่เด็กเยาวชนเหล่านี้ไปเต้นกัน คือ “ลานกิจกรรมริมแม่น้ำ” ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ก็มิวายได้รับเสียงก่นด่าจากผู้อาศัยใกล้เคียง จนถึงจุดแตกหัก เมื่อชุมชนพากันร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอ้างว่า มีการมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด หลังจากหน่วยงานในพื้นที่รับเรื่องแล้ว มีการนำเสนอเป็นข่าวภายในใหญ่โต จนกลุ่มนักเต้นต้องพักการเต้นเว้นระยะ เพราะถูกด่าไม่ไว้หน้าจากชาวประชา ขณะที่หน่วยงานได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยรอบอย่างละเอียด “ไม่พบว่ามีการใช้ยาเสพติด” บนพื้นที่ดังกล่าว

หลังจากนั้น ต้องชื่นชมหน่วยงานราชการ ที่เลือกใช้วิธีทำความเข้าใจกับชุมชน และสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องเสียงในลานกิจกรรม เพื่อสนับสนุนให้กลุ่ม B-Boy / B-Girls ได้ใช้ประโยชน์ด้วยกัน แบบไม่อึกทึก เท่านั้นไม่พอ เทศบาลยังจัดประกวดประจำปีขึ้นมา และใช้เวทีประกวดเป็นหนึ่งเครื่องมือในการร่วมสอดส่องดูแลพื้นที่ร่วมกับวัยรุ่น

ท้ายที่สุดกรณีนี้ “ไม่มียาเสพติดเกี่ยวข้อง” แถมยังสะท้อนมาตรการป้องกันยาเสพติด โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของวัยรุ่น B-Boy / B-Girls และผู้อาศัยในชุมชน จนเกิดทางออกร่วมที่ประสบความสำเร็จซึ่งน่านำไปเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายพื้นที่

(2) แพะตัวที่สอง ... “คดีสะเทือนขวัญกราดยิงหนองบัวฯ สังคมมั่นใจชัวร์เมายา ขณะที่สื่อมวลชนขานรับทำหน้าที่ไม่บกพร่อง ฟันธง ผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับยาเสพติด”

หนึ่งคดีที่เป็นข่าวใหญ่ปลายปี 65 ของประเทศไทย คือ กรณีกราดยิงศูนย์เด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู จนสูญเสียหลายชีวิต เช่นกันกับข่าวร้ายหลายเนื้อหา ที่ถูกวิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานาว่า ผู้ก่อเหตุเสพยา เมายา หรือเป็นผู้ป่วยจิตเวช แม้กระทั่งกับสื่อที่เรียกได้ว่าน่าจะมีจรรยาบรรณมากสุดอย่าง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่พาดหัวข่าวคราวแรกว่า “คาดผู้ก่อเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก...มีพฤติกรรมเสพยาเสพติด เกิดความเครียด และหลอน ก่อนก่อเหตุกราดยิง” (6 ต.ค. 2565) แต่รุ่งขึ้นวันต่อมา การรายงานข่าวกลับตาลปัตร “ผบ.ตร.เผยผลตรวจ อดีต ตร. กราดยิงหนองบัวลำภู ไม่พบสารเสพติด” (7 ต.ค. 2565)

กรณีนี้เชื่อว่า จวบจนปัจจุบันเรา ๆ ท่าน ๆ หลายคนยังปักใจว่า “ยังไง ๆ ก็เมายา” ทั้งที่มีการยืนยันแล้วจาก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าผลตรวจเบื้องต้นไม่พบสารเสพติด ขณะที่ตรวจซ้ำโดยแพทย์แล้วยังย้ำความชัดเจน “ไม่พบสารเสพติดในร่างกายผู้ก่อเหตุ”

(3) แพะตัวที่สาม ... “อัยการสั่งฟ้อง ศาลสั่งปล่อย ลูกจ้างทำงานอยู่ดี ๆ ถูกรวบคดีสมคบค้ายา ถูกจำคุก เมียเลิก พ่อตาย เวลาชีวิตหาย 2 ปี”

คำถามมากมายเกิดขึ้นกับเรื่องนี้ เมื่อมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในกล่องพัสดุส่งจากต่างจังหวัด โดยใช้ชื่อและบัตรประชาชน “นาย A” เป็นผู้ส่ง แต่เจ้าตัวคือ นาย A ที่ถูกอ้างมีหลักฐานที่อยู่ สแกนนิ้วเข้าทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเพื่อนร่วมงาน นายจ้าง ลูกค้า ร่วมเป็นพยานในกระบวนการสอบสวน แต่อัยการเห็นค้าน สั่งฟ้อง เพราะเชื่อพยานปากเดียวคือ ร้านส่งพัสดุที่ชี้บัตรประชาชนได้ แต่ไม่สามารถชี้ตัวผู้ต้องหาวันชี้ตัวได้

ตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ปี ที่เจ้าตัวถูกจองจำพร้อมคำถามในหัวว่า “ผิดอะไร” ท้ายที่สุดศาลพิพากษา ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษายกฟ้อง และให้ออกหมายปล่อยจำเลย ... จนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานว่า ได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออะไรกับ “นาย A” ... แต่สองปีแห่งความมืดดำท้ายเรือนจำนั้น ตัวเขาไม่มีสิทธิรู้เลยว่า ชาวบ้านร้านตลาดขนานนามตัวเองว่าอย่างไร จนถึงกับทำให้ภรรยาต้องขอเลิกรากันไป ซ้ำร้ายกว่า คือ การที่เจ้าตัวไม่สามารถขอลาพักจากคุกมาร่วมงานศพของบิดาตัวเองได้

.

.

นี่เป็นเพียงตัวอย่างรอบด้าน ว่าที่ผ่านมายาเสพติด พ่วงด้วยอาการทางจิตเวช ล้วนเป็น “แพะ” ในกระแสสื่อและสังคม ที่ไม่มีใครหาญกล้าลุกขึ้นมาตั้งข้อสังเกต หรือแสวงหาเหตุ – ผล – ข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย และ “เทรนด์” นี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดก็ตามที่เรายังแขวนป้ายไวว่า “ยาเสพติด = ปีศาจร้าย”

รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง