บทความ
เดินหน้าสามก้าว ถอยหลังสองที

: วี่แววภายใต้รัฐบาลคิดใหญ่ จะเอายังไงกับกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

( Recap : สรุปสถานะล่าสุดของการผลักดันพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ 1 ร่าง จากภาคประชาชนกำลังเคว้งหน้าห้องนายก รอแล้ว รออยู่ รอนายกรัฐมนตรีให้การรับรองมาสองปี อีก 1 ร่าง จากภาครัฐ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเสนอ กำลังเผชิญอุปสรรคเมื่อกฤษฎีกาปากแจ๋วว่า ยังไม่มีความจำเป็น ทางด้านเครือข่ายฯ ประสานหลายพรรคการเมืองเข้าพบ ส่วนมากอ้างเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน จึงรับทราบและเห็นด้วยในหลักการ แต่มีแค่ “เป็นธรรม” โดย สส.กัณวีร์ ที่ชูธงเร่งด่วน ชวน 20 สส. ก้าวไกล(เดิม)เสนอร่างฯต่อประธานรัฐสภาแล้ว คู่ขนานกับสนับสนุนให้กรรมาธิการการกฎหมายประกาศตั้งคณะทำงาน พิจารณาศึกษาหาแนวทางการตรากฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม)

ราวกับการตามหาไก่ย่างกลางปากสุนัข หากจะถามถึงความคืบหน้าคืบหลัง ของการผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยเฉพาะฉบับที่จากภาคประชาชนร่วมกันยกร่าง เข้าชื่อ จนผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ดำเนินการในแบบเป็นไปตามครรลองของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญเปิดให้ประชาชนใช้สอยสิทธิเสรีภาพ

วันนี้ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ) จะมาสรุปสถานการณ์ล่าสุด เพื่อให้ทุกท่านเท่าทันข้อมูลเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

(1.) ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ (ฉบับภาคประชาชน) ตรวจสอบซ้ำมากกว่า 3 รอบ จนได้รับการยืนยันทั้งโดยสำนักเลขานายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล เลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แล้วว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวของประชาชน ยังอยู่ในสถานะ "รอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้การรับรอง" เพราะเป็ฯกฎหมายเกี่ยวเนื่องด้วยการเงิน

เมื่ออำนาจประชาชนสิ้นสุดแล้ว ก็เหลือเพียงคนเดียว ที่จะเลือก "ประวิงเวลา" หรือ "เดินหน้า" แก้ปัญหาความเดือดร้อนนี้ ชวนประชาชนมาร่วมลุ้น และติดตามการตัดสินใจ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อกระบวนการนี้ “ไม่มีกำหนดกรอบเวลา” นายกจะใช้หนึ่งวัน หนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือชาตินี้พิจารณาก็มิสามารถเร่งรัดได้ ... เพราะปากท้องสำคัญกว่า แต่เรื่องความ -ิบหายอื่นรอได้ รอไปก่อน

(2.) ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ฉบับหน่วยงานรัฐ ร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งผ่านความเห็นชอบว่า ควรจัดทำและเสนออย่างเร่งด่วนโดยเจ้ากระทรวง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง กำลังเผชิญกับอุปสรรคทางเทคนิค ทั้งการที่หน่วยงานต่าง ๆ “เตะถ่วง” การส่งความคิดเห็น และการมีความเห็นลักษณะ “เบรกเอี๊ยด”

เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุชัด “ยังไม่มีความจำเป็น” เหตุเพราะการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในด้านต่าง ๆ เป็นหลักการที่มาตรา 5 และ มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติไว้รับรองอยู่แล้ว

ทางออกของเรื่องนี้ หน่วยงานผู้เสนอกฎหมาย ได้ตระเตรียมความพร้อมในการหารือร่วมระหว่างหน่วยงานคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะประชาชนก็ได้แต่หวังว่า จะไม่มีหน่วยงานไหนมาตีปลาหน้าไซ ทลายความหวังของผู้คนที่เดือดร้อน แล้วเบือนหน้าหนีขึ้นหอคอยงานช้างไปง้างเรื่องอื่นที่สวนทางกับเจตนาของประชาชนอีก

(3.) ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติจากพรรคการเมือง สิบเนื่องจากที่มูฟดิ พยายามทำตนให้สมฐานะประชาชน ขอเข้าพบบรรดาพรรคการเมือง และผู้แทนของประชาชน (ซึ่งก่อนเลือกตั้งแสดงตนอ่อนโยน และรับฟังเสียงประชาชน) ตลอดสองปีที่ผ่านมา เกือบทุกพรรคที่อยู่บนหน้าสื่อหลักของประเทศ พบว่า “ทุกพรรคเห็นด้วยในหลักการ” ว่าบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัตินี้ ควรมีกฎหมายห้ามกระทำการเลือกปฏิบัติเสียที

โดยมีพรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล(เดิม) ประชาธิปัตย์ ประชาชาติ และล่าสุดพรรคเพื่อไทย ที่รับเจตนาประชาชนไปหมายมั่น ว่าจะปั้นร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ของพรรค แล้วรวบรวมรายชื่อสส. อย่างน้อย 20 คน เสนอกฎหมายตามกระบวนการ ... แต่จนแล้วจนรอดมีเพียง 1 พรรค คือไทยสร้างไทย เท่านั้น ที่อ้างว่า ร่างฉบับของพรรคตนแล้วเสร็จเรียบร้อย ขณะที่พรรคก้าวไกล(เดิม) มีสมาชิก 20 คน ร่วมลงชื่อกับ นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเป็นธรรม เสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ต่อประธานรัฐสภาแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

และล่าสุด (1 ส.ค.67) ด้วยความร่วมมือของ สส.กัณวีร์ เป็นผลให้กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยประธานนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประกาศตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาหาแนวทางการตรากฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลขึ้น โดยกำหนดสัดส่วนให้ตัวแทนของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

หลังจากนี้ ชวนทุกท่านจับตา ติดตามพร้อมกันทั้ง

- ท่าทีนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย (เพราะเราในฐานะประชาชนไม่ทราบจริง ๆ ว่าใครมีอำนาจสูงสุด) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ฉบับภาคประชาชน ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และตัดสินใจอย่างไร

- ผลการหารือของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อการพิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ฉบับหน่วยงานรัฐ

- การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาหาแนวทางการตรากฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหลังจากนี้ โดยเฉพาะทิศทางการทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติ เพื่อ “ห้ามเลือด” ลดความเสียหายของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากการถูกเลือกปฏิบัติเสียที

รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง