อุปสรรคของการเข้าถึงระบบบริการเพื่อสุขภาพประการแรกของคนบางกลอยในปัจจุบัน คือการไม่สามารถหาคำตอบให้ตนเองและชุมชนได้ ว่าอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่นี้ คือโรคชนิดใด มาจากสาเหตุใด
เนื่องจากไม่เคยมีประสปการณ์ในความป่วยไข้เช่นนี้ เพราะตลอดการใช้ชีวิตที่บางกลอยบน -ใจแผ่นดิน จนถึงการถูกบังคับอพยพ ชาวบ้านไม่เคยป่วยด้วยโรคที่มีอาการรุนแรงรวมถึงโรคระบาด มีเพียงความเจ็บป่วยด้วยอาการเหนื่อยล้าจากการทำไร่และไข้หวัดที่น้อยคนจะเป็น ซึ่งสามารถรักษาตนเองโดยธรรมชาติหรือสมุนไพร ทำให้มีอาการป่วยเกิดแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ
แต่ในกรณีที่อาการป่วยมีความรุนแรงจนไม่สามารถรักษาตนเองด้วยสมุนไพรได้ ชาวบ้านจะเชิญหมอร่างทรงในชุมชนมาทำการรักษา ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นน้อยครั้ง เนื่องจากโดยทั่วไปชาวบ้านแทบทั้งหมดมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงดีมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่สามารถผลิตอาหารแทบทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง ทำให้ปลอดภัยจากสารเคมี ข้าวและอาหารจากไร่หมุนเวียนที่ปลูกด้วยมือตัวเอง ให้ทั้งกำลังกายและความมั่นใจ ที่สำคัญ ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ทุกสิ่งทุกอย่างเราเอามาจากไร่หมุนเวียนที่ได้ลงมือลงแรงทำเองทุกขั้นตอน ไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่ถูกเรียกว่า “ความอุดมสมบูรณ์”
การอยู่ข้างบนทำให้ชาวบ้านแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและจิต จึงไม่จำเป็นต้องใกล้ชิดพึ่งพาการะบบบริการด้านสุขภาพมากนัก แต่ผลตามมาของการถูกบังคับให้อพยพตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยด้วยโรคภัยที่รุนแรงขึ้นตามจำนวนปี และยังส่งผลต่อเด็กเกิดใหม่ใหม่ด้วย
ไม่ใช่แค่เสียกำลังใจ เพราะการไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากสูญเสียที่ทำกิน ไร่หมุนเวียนถูกห้าม ก็ทำให้หลายครั้งที่บางครอบครัวต้องอดอาหาร ต่อให้แม้มีรายได้เพียงพอ อาหารที่ซื้อมานั้นก็มีสารเคมีตกค้างอยู่ จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นโรคที่เราไม่รู้ว่ามันคือโรคอะไร หลายชื่อเรียกไม่เคยได้ยินก็มีคนเป็น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัวข้างเดียว ใจสั่น เหนื่อยง่าย ไม่อยากอาหาร ไหนจะยังมีโรคประจำฤดูกาลอย่างไข้หวัดไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออกที่เป็นของคู่ชุมชน
ปกติพอถึงช่วงฤดูฝนนั้น ชาวบ้านเกือบครึ่งหมู่บ้านที่เป็นและคนเฒ่าคนแก่ซึ่งรู้เรื่องสมุนไพร จะทำยาสมุนไพรขึ้นมา แต่ที่ไม่ปกติคือปัจจุบันมักรักษาไม่ได้ผล เพราะโรคประจำฤดูกาลนั้นแปลกขึ้นทุกปี ที่ใกล้ตัวเพราะเป็นคนในครอบครัว คือ ไข้เลือดออก ช่วงแรก ๆ จะมีไข้ตัวร้อน แค่กินยาหรืออบสมุนไพรก็จะดีขึ้น แต่มาช่วงหลัง ๆ จะเริ่มจากปวดหัวหนัก กินยาไม่หาย ตัวร้อนมากเช็ดตัวก็ไม่มีวี่แววจะช่วย ที่แย่กว่าคือกินอะไรไม่ได้เลย กินแล้วจะอาเจียน … แต่นั่นไม่แย่เท่าการต้องเดินทางไปโรงพยาบาลแล้วหมอไม่ให้รักษา*
ไม่มีใครอยากป่วยหรืออยากไปโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น พวกเราเช่นกัน เพราะจากที่พักหากออกไปครั้งหนึ่ง มันคือการพาตัวเองเจอความลำบาก ต้องผ่านเส้นทางที่ห่างไกลและกันดาร เข้าออกต้องบอกด่าน** มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งค่าจ้างรถ ค่าแรง และค่าน้ำมัน อย่างต่ำต้องจ่าย 2,500 บาท แถมยังมีค่าอาหารระหว่างทาง เพราะใช้เวลาไป-กลับไม่ต่ำกว่า 6 ชม.
ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รักษาเมื่อไปถึง เพราะยังเหลืออุปสรรคทางภาษา เนื่องจากชาวบางกลอยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่เป็น เมื่อเจอเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีความเข้าใจภาษากะเหรี่ยงเลย ก็ทำให้บางคนได้รักษาไม่ตรงตามอาการ และบางคนก็ต้องเดินทางกลับ โดยที่ไม่ได้ยาอะไรกลับมาเพราะไปถึงเกินเวลา … นั่นทำให้ทุกครั้งที่ชาวบ้านเจ็บป่วย การไปโรงพยาบาลจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
พวกเราไม่กลัวการหาหมอ แต่กลัวที่หมอจะไม่เข้าใจ ไม่พอใจการสื่อสารของเรา โชคยังดีที่ตอนนี้ชาวบ้านบางคนมีลูกหลานได้เรียน จนสามารถพูดไทยได้ แต่ยังมีบางคนต้องไปหาหมอเอง ขณะที่หมอเองก็เริ่มมีล่ามให้ แต่บ่อยครั้งยังมีปัญหา เช่น ต้องรอเวลานาน
เรื่องแม่และเด็กสมัยก่อนนั้น เวลามีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก็จะอาศัยหมอตำแยในหมู่บ้านช่วยทำคลอด โดยใช้สมุนไพรต้มให้อาบ และอยู่ไฟเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ อาหารการกินนั้นให้งดทุกอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและแม่ อย่างมะเขือไม่สามารถกินได้ เพราะทำให้คันแผล ห้ามกินของมันเพราะมันจะลงน้ำนม ทำให้เด็กสำรอกหนัก ของดองของเปรี้ยวของรสจัดห้ามกิน ช่วงตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรก จะได้กินแค่น้ำซุปหัวปลีกับเนื้อย่างที่สุกและไม่มีมัน พริกกินได้แค่ 3 เมล็ด พ้นจาก 3 เดือนจึงสามารถกลับมากินได้อย่างปกติ แต่ต้องงดเนื้อสัตว์ตัวใหญ่ เพื่อให้เด็กแรกเกิดได้น้ำนมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปวดท้องบ่อยไม่ร้องไห้งอแง เป็นที่เด็กเลี้ยงง่ายร่างกายแข็งแรง
แต่ในปัจจุบัน การต้มสมุนไพรอาบ การอยู่ไฟแทบจะไม่มีแล้ว และหมอตำแยก็เหลือน้อย (ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง2คน) แล้วตัวแม่เองนั้นก็จะไม่สามารถงดอาหารได้ เพราะทำให้เด็กไม่ได้รับน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ไม่สบายตัว ปวดท้อง ร้องไห้งอแงตลอด เพราะร่างกายไม่แข็งแรง ยากต่อการเลี้ยงดู บวกกับสภาวะโรคกำเนิดใหม่ในปัจจุบัน ที่ทำให้เด็กเจ็บป่วยง่ายขึ้น ในทางกลับกัน สมุนไพรก็ขาดแคลนหาไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่บ้านเรา เรียกว่าแทบจะไม่มีการรักษาโดยใช้สมุนไพรเลย และในเวลาที่เราไปหาหมอแล้วหมอรักษาไม่ได้ เราก็กลับมาอาศัยหมอร่างทรงที่หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 3 คนเท่านั้น
นั่นคือชีวิตของพวกเรา นั่นคือชาวบ้านบางกลอย
—————————
* 24 พฤษภาคม 2566 นางกิ๊ป ต้นน้ำเพชร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ถูกจับกุมดำเนินคดี จากกรณีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพียงเพราะเดินทางกลับไปยังชุมชนดั้งเดิมที่เธออาศัยบริเวณใจแผ่นดิน(ที่ถูกบังคับให้อพยพลงมาอาศัยในพื้นที่ปัจจุบัน) เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก … นอกจากเป็นสตรีที่กล้าลุกขึ้นยืนเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน เป็นหนึ่งในปากเสียงของคนบางกลอยแล้ว เธอมีอีกสถานะ คือ "มารดา" ของ จันทร ต้นน้ำเพชร
** ด่านมะเร็ว ตั้งอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นด่านตรวจมีอุปกรณ์สกัดกั้น เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกเดียว ของชุมชน