บทความ
เราจะมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ กันกี่โมง ?

: คำถามจากภาคประชาชนที่คำตอบยังอลวนจากรัฐและพรรคการเมือง

19 มิ.ย. 67 ที่ โรงแรม ทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ ร่วมกันจัดการเสวนาเรื่อง “เราจะมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลกันกี่โมง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ คุณกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย, คุณจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย และกองเลขาฯ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ), คุณสมเดช พูลนำเภา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ คุณกัณวีร์ สืบแสง รองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม


โดยช่วงต้น คุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูล และให้คำมั่นในการร่วมสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ โดยระบุว่า หากประเทศไทยอยากจะยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดกฎหมายนี้ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเองก็ให้ความสำคัญ และพร้อมจะสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่า จะเป็นจุดคานงัดและเครื่องมือสำคัญ และเป็นหลักประกันในการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ตัวแทนตัวจากภาคส่วนอื่น ได้ร่วมแสดงความเห็นถึงการสนับสนุนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ โดย คุณสมเดช พูลนำเภา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า


“แม้ร่างกฎหมายนี้จะริเริ่มโดยภาคประชาชน แต่ท่านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเรา ยืนยันในหลักการว่าเห็นด้วยเต็มที่ และขอให้ภาคประชาชน ประชาสังคมสบายใจได้ว่า หน่วยงานรัฐจะร่วมสู้ไม่ถอย เพราะหนึ่งในภารกิจการทำงานของเราคือ เฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ หรือเมื่อเกิดแล้วก็จะมีแนวทางเยียวยา ช่วยเหลือ และฟื้นฟู จึงทำให้หลักการสำคัญของกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ เป็นหนึ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง เราจึงให้ความสำคัญและพร้อมเดินหน้าสนับสนุน เนื่องจากกฎหมายนี้จะช่วยอุดช่องว่างของกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วด้วย


ในส่วนของรายละเอียดร่างฯ ของภาครัฐที่เรานำเสนอนั้นมี 48 มาตรา 5 หมวด อิงตามหลักกติการสากล ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจะกระทำมิได้ โดยกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายกลางหากไม่มีกฎหมายอื่นใช้บังคับ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สิ่งสำคัญคือ มีกลไกช่วยเหลือคุ้มครองไกล่เกลี่ย และมีบทลงโทษต่อผู้เจตนา จงใจ หรือกระทำการเลือกปฏิบัติซ้ำ


ย้ำว่า กฎหมายนี้จะช่วยสร้างหลักประกันเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้เสียหายทุกกลุ่มเป้าหมาย และทำให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิภายในประเทศลดลง รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เพราะจะมีกำลังแรงงานมากขึ้น จากสาเหตุที่มีคนถูกกีดกันด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ น้อยลง และถ้าหากมีคำถามเรื่องความซ้ำซ้อน ก็ต้องยืนยันว่า มันไม่มีปัญหาเรื่องนี้แน่นอน”


ด้าน คุณกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงภาพรวม แต่ปฏิเสธจะให้ข้อมูลในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า


“การมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลนั้น จำเป็นและสำคัญ แต่วันนี้ผมอาจไม่ได้มาในนามรัฐบาลโดยตรง จึงไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลได้ทั้งหมด เท่าที่รับทราบจากนโยบายที่รัฐบาลได้สื่อสารต่อสาธารณะก็ชัดเจนว่า รัฐบาลพร้อมรับรองและให้การสนับสนุนหลักการของกฎหมายเรื่องนี้ เห็นได้จากความตั้งใจของท่านนายกในการสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม


สำหรับข้อกังวลเรื่องกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ จากภาคประชาชนนั้น เนื่องจากเป็นร่างการเงิน ที่ต้องรอให้มีการลงนามรับรองของท่านนายก ท่านก็ได้ส่งไปขอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปและนำมาประกอบการพิจารณาแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจเต็มที่ในการสนับสนุนเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่กฎหมายนี้ แต่อีกหลายเรื่องจะอยู่ในคิว เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในรัฐบาลนี้ แต่...ยังต้องมาคุยกันในรายละเอียดเพิ่มเติม”


ท้ายที่สุด คุณกัณวีร์ สืบแสง รองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม ได้ร่วมเสวนาผ่านระบบออนไลน์โดย ให้คำยืนยันว่า แม้ตนจะอยู่ในตำแหน่งพรรคฝ่ายค้าน แต่พร้อมสนับสนุนให้ประเทศมีกฎหมายลักษณะนี้อย่างเต็มที่ผ่านกระบวนการรัฐสภา


“เรามีแนวทางสนับสนุนเรื่องนี้ 2 แนวทาง คือ พรรคฝ่ายค้านเองโดยตัวผม หลังจากเปิดสภานี้จะมีการเข้าชื่อสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 20 ท่าน เสนอให้พิจารณากฎหมายเรื่องนี้ อีกหนึ่งแนวทางคือ กรรมมาธิการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่ผมอยู่ จะกำหนดให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เราเข้าใจกันดี ว่าในพื้นที่การเมืองบ้านเราเวลาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน มักจะมองเป็นเรื่องไกลตัว

การที่จะทำให้สังคมตระหนักรู้ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มทำความเข้าใจ เพื่อมามีส่วนร่วมนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา นอกจากภาคการเมืองแล้ว เราต้องมาร่วมกันทำให้เรื่องการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ยอมรับมัน และทำให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดต้องให้ความสำคัญ”


รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง