ปกติเมื่อพูดถึงปัญหาของ ‘คนไร้บ้าน’ เรามักนึกถึงระบบสวัสดิการ สิทธิรอบด้าน เกี่ยวข้องกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และอื่น ๆ แท้จริงแล้ว ‘สถาปัตยกรรม’ เองก็ส่งผลต่อคนไร้บ้านในแง่ลบ และ เป็นเครื่องมือ ‘ผลักไส’ คนไร้บ้านได้ดีทีเดียว เรากำลังพูดถึง “Hostile Architecture” หรือ “สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับคนไร้บ้านโดยเฉพาะ” เช่น เก้าอี้เดี่ยวตัวเล็กแบบเว้นระยะห่าง ออกแบบเพื่อกันคนไร้บ้านมาอาศัยนอนหลับ เช่นเดียวกับพื้นฟุตบาทที่ขรุขระ มีลวดลายนูนโค้งที่หากหย่อนก้นนั่งพัก หรือนอนไปนาน ๆ จะรู้สึกปวดเนื้อตัวไปหมด
งานสถาปัตยกรรมพวกนี้ไม่ได้มีแค่ชิ้นสองชิ้น แต่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อโลกทุนนิยมกำลังโบยตีเราทุกคนที่ขยับชนชั้นไม่ทัน
อันที่จริง คำว่า "Hostile Architecture” เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้ แต่สำหรับจุดตั้งต้นคงต้องย้อนไปในศตวรรษที่ 19 ...ในสหรัฐอเมริกามีการวางผังเมืองเพื่อ ‘การแบ่งแยก’ อาทิ เส้นทาง Long Island Southern State Parkway ซึ่งมีสะพานหินเตี้ย ๆ กันไม่ให้รถประจำทางลอดผ่านได้ เมื่อรถประจำทางผ่านไม่ได้ ผู้ที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกันก็ไม่สามารถผ่านได้
นอกจากชาติพันธุ์ที่ไม่ปรารถนา ถนนเส้นนี้ยังสามารถกีดกันคนยากจนที่ไม่มีเงินซื้อรถส่วนตัวได้ด้วย ประเทศฝรั่งเศส ในศตวรรษเดียวกันนี้ก็ไม่น้อยหน้า ถนนอันคับแคบบางแห่งในกรุงปารีสได้รับการปรับปรุง ขยับขยายให้กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่เพื่อการเดินทางอันสะดวกสบายของประชาชน แต่เพื่อช่วยสนับสนุนพลทหารในการปราบปรามผู้ประท้วงรัฐบาลต่างหาก…รูปแบบตั้งต้นเหล่านี้หลายส่วนพัฒนามาจากปรัชญา การป้องกันอาชญากรรมผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อม หรือ Crime prevention through environmental design (CPTED) การออกแบบเมืองเพื่อป้องกันอาชญากรรม ปกป้องทรัพย์สิน ปรับปรุงและดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน
ผ่านหลักการแบ่งแยกอาณาเขต เฝ้าระวัง และควบคุมการเข้าถึง เมื่อทำเช่นนี้ก็จะสามารถแบ่งแยกกลุ่มคนที่อยากแยกห่างได้ชัดเจน ผ่านวิธีอันแยบคาย ดูเหมือนจะถูกต้อง มีมโนธรรม ไม่รุนแรงจนน่าเกลียด เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ในที่สุด สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรก็ถูกพัฒนาเพื่อ ‘กีดกันคนไร้บ้าน’ โดยเฉพาะ
สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรเหล่านี้ ทั้งสร้างสรรค์ หลากหลาย และแนบเนียบไปกับเมืองนั้น ๆ จนดูปกติ อยู่ในพื้นที่ทั่วไป หลายประเทศทั่วโลก และใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เช่น หนามแหลมใต้ทางหลวง Huangshi เมืองกวางโจว ประเทศจีน : ปกติพื้นที่ใต้ทางหลวงหรือใต้สะพานที่ยกสูง มักเป็นที่อยู่หลบภัยของคนไร้บ้าน แต่ใต้ทางหลวงแห่งนี้กลับมีคอนกรีตแหลมวางกระจายตัวอยู่ทั่ว เดินผ่านได้แบบต้องซิกแซกหน่อย แต่นั่งหรือนอนไม่ได้
ม้านั่งแบบแบ่งส่วน ประเทศอังกฤษ : ในอังกฤษโดยเฉพาะเมืองหลวงมีคนไร้บ้านจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แทนที่จะสนใจต้นตอของปัญหา กลับสนใจติดตั้งแท่งเหล็กไว้บนม้านั่ง แบ่งส่วนม้านั่งที่ยาวจนนอนได้ ให้กลายเป็นที่นั่งเล็ก ๆ ซึ่งนั่งแล้วลำบาก เมื่อยตัว
ม้านั่งนอกรีต เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น : ม้านั่งในพื้นที่สาธารณะมีรูปทรงแปลก ๆ โค้ง เอน หรือมุมแหลมที่ทำให้นอนราบหรือนั่งนาน ๆ ยาก
ก้อนหินบนทางเท้า เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา : ก้อนหินใหญ่ ๆ วางเรียงรายบนทางเท้าบางจุด ได้รับการออกแบบและลงทุนโดยกลุ่มเพื่อนบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ สิ่งกีดขวางนี้ได้ผลชะงัด เพราะต่อให้ไม่ใช่คนไร้บ้านก็ลำบากไปด้วย
ก้อนหินขรุขระ เมืองอักกรา ประเทศกานา : คล้ายเมืองซานฟรานซิสโก ที่นี่ก็มีหินขรุขระหลายร้อยก้อนเกลื่อนพื้น
เดือยโลหะ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย : เดือยโลหะรูปทรงหนามแหลม เรียงกันถี่ ๆ หลายแถว ปรากฎอยู่ด้านหน้าธนาคาร HDFC หนามแหลมเหล่านี้ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการตกแต่งพื้นที่ แต่แท้จริงสร้างหายนะให้กับคนจำนวนมาก มีเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เสี่ยงอันตรายไปด้วย
การออกแบบเมืองด้วยสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ เอกชน นายทุน เจ้าของพื้นที่ หรือกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมกันวางแผนออกแบบเพื่อผลักปัญหาคนไร้บ้านให้ออกไปจากความรับผิดชอบของสังคม นักวิจัยหลายคนวิเคราะห์ว่า การออกแบบเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจปัญหาซับซ้อนของเมือง สวัสดิการที่ไม่เพียงพอ สิทธิที่ไม่เอื้อให้ผู้คนมีโอกาสมีที่อยู่อาศัย ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม
เมื่อไม่พยายามเข้าใจ ก็นำมาสู่ความหวาดกลัวและหาทางกีดกัน และยิ่งถางชนชั้นให้กว้างออกไปผ่านอำนาจที่อยู่ในมือ
เลวร้ายยิ่งกว่านั้น นอกจากคนไร้บ้าน การเติบโตของสถาปัตยกรรมประเภทนี้ยังนำไปสู่การกีดกันคนกลุ่มอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา คนยากจน คนพิการ ฯลฯ
ปัจจุบัน มีการพูดถึงสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ รายละเอียดอาจแตกต่างไปตามความซับซ้อนของปัญหาในแต่ละพื้นที่ สำหรับเราผู้เขียนแล้ว นี่คือเรื่องสำคัญที่ควรตระหนักและพูดคุยเป็นวงกว้าง เพราะยิ่งนานวัน ปากแผลเดิมจะยิ่งถูกเปิดออกให้เจ็บช้ำ ยิ่งไร้มนุษยธรรมต่อมนุษย์ด้วยกันเอง
______________________________________________________
ภาพประกอบ