บทความ
เยี่ยมเพื่อนบางกลอย ที่รอคอยการกลับบ้าน

จากถนนพระราม 2 ที่เต็มไปด้วยการก่อสร้างที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จสิ้น รถบัสได้พาพวกเราเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) กว่า 20 ชีวิต มาถึงแก่งกระจานในช่วงบ่ายของวันที่ 12 ธันวาคม2566


2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเส้นทางการเดินทาง เพราะจุดหมายปลายทางในวันนี้อยู่ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ภายใต้กิจกรรมเยี่ยมเพื่อนเพื่อเคลื่อนงานครั้งที่ 1 ของเครือข่ายฯ ... จากถนน 4 เลน ค่อยๆ ถูกบีบจนเหลือ 2 เลน ให้รถแล่นผ่านกันไปมา ทิวเขาสลับซับซ้อนจนไม่สามารถรู้ได้เลยว่า จุดหมายปลายทางจะหยุดลงที่ตรงส่วนใดของพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจาน รถกระบะพาพวกเราจนมาถึงด่านตรวจเข้าบ้านบางกลอย (มะเร็ว) สถานที่ที่ทำให้เห็นว่า พื้นที่ที่เรากำลังจะเข้าไปในวันนี้ เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ไม่ใช่ใครก็สามารถเข้าไปได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ของชาวบางกลอย พวกเขาถูกรัฐไทยบังคับให้อพยพมาอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จากแต่เดิมที่ชาวบางกลอยเคยอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินและบางกลอยบน การเดินทางครั้งนี้ จึงมาเพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนบางกลอย และในวันนี้ชีวิตการเป็นอยู่ของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร

สองเท้าเดินก้าวข้ามสะพานที่ตัดผ่านแม่น้ำเพชรบุรี ป้ายไม้ที่มีตัวอักษรสีขาวจางๆ ระบุว่าหมู่บ้านบางกลอย บ้านเรือนถูกตั้งขึ้นเบียดเสียดกันในพื้นที่จำกัด ชาวบางกลอยเล่าว่าพวกเขาได้รับที่ดินจากภาครัฐ เมื่ออพยพลงมาหลังปี 2539 ครอบครัวละ 7 ไร่ ซึ่งยังมีอีกหลายครอบครัวที่ตกค้างไม่ได้รับที่ดิน จึงทำให้ต้องไปทำอาชีพรับจ้างอื่นๆ และอาศัยอยู่บ้านญาติ หมู่บ้านบางกลอยในวันนี้จึงมีแต่ผู้สูงอายุกับเด็กน้อย เพราะคนวัยทำงานล้วนต้องลงไปทำงานใช้แรงงานอยู่ในเมือง

เลี้ยวซ้ายจากป้ายหมู่บ้าน ถัดไปไม่ไกลจากที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน มีสนามฟุตบอลและศาลาอเนกประสงค์ที่ใช้สำหรับการต้อนรับผู้มาเยือนในวันนี้ ลานกว้างถูกจับจองไปด้วยเด็กๆ ที่มาเตะฟุตบอล พวกเขาต่างยกมือไหว้คนแปลกหน้าที่มาเยือน แววตาเต็มไปด้วยความสงสัยและความประหม่าที่อยากรู้ว่า คนภายนอกกลุ่มนี้เข้ามาทำอะไร

ฟ้าเริ่มมืดลงพวกเราต่างจับจองพื้นที่กางเต็นท์ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาวบ้านบางกลอยเริ่มทำกิจวัตรของตัวเองในช่วงหัวค่ำ บ้างก็ลงอาบน้ำที่แม่น้ำ บ้านบางหลังก็มีแสงไฟและเสียงสนทนาในช่วงเวลาอาหารเย็น ผู้เฒ่าผู้แก่เดินออกมาสวดมนตร์ที่ศาลาขนาดเล็ก ไม่ไกลจากที่พักแรมของพวกเรา ณ ที่แห่งนั้น มีพระสงฆ์อยู่ 1 รูป ที่คอยนำสวดมนต์ ถึงเวลานี้ฟ้าก็มืดสนิทแล้ว แต่แสงจากเปลวไฟของวงสนทนา ระหว่างพวกเราชาว MovED กับชาวบ้านบางกลอยก็ได้เริ่มต้นขึ้น

รอบกองไฟในคืนที่ดาวเต็มฟ้า กับน้ำตาของชาวบางกลอย

หลังจากที่ชาวบางกลอยทำอาหารเย็นมาต้อนรับพวกเรา อากาศเริ่มเย็นลงทุกคนต่างมานั่งล้อมกองไฟเพื่อความอบอุ่น ปลุ จีโบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านบางกลอย เริ่มต้นเล่าย้อนความทรงจำของตัวเอง เมื่อครั้งยังอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดิน

“ผมเกิดอยู่ที่ใจแผ่นดิน สมัยนั้นชาวบ้านเป็นชาวเขาผูกพันอยู่กับป่า ไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานีอนามัย ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับภาครัฐ จนกระทั่งช่วงปี 2538 หน่วยงานรัฐขึ้นไปคุยกับชาวบ้านให้พวกเราย้ายลงมา” จากคำบอกเล่าของปลุ และการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า หมู่บ้านใจแผ่นดินมีอยู่ตั้งแต่ปี 2455 เป็นอย่างน้อย ก่อนที่ปี 2524 จะมีการประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และถือว่าชาวบ้านบางกลอยเป็นผู้บุกรุก ปลุยังกล่าวเสริมว่าเจ้าหน้าที่อุทยาน ตํารวจตระเวนชายแดนและทหาร ให้เวลาชาวบ้านแค่ 1 เดือนในการเตรียมตัวย้าย

“พอประกาศเป็นพื้นที่อุทยานกลายเป็นว่าชาวบ้านเป็นคนทำผิดกฎหมายบุกรุก ทั้งที่จริงชาวบ้านไม่ได้บุกรุก แต่กฎหมายบุกรุกชาวบ้านซะก่อน” ปลุกล่าว

การถูกกดขี่และต่อสู้ของชาวบ้านบางกลอยจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2539 ในยุคของปู่คออี้ ตามมาด้วยรุ่นถัดไปอย่างบิลลี่ - พอละจี รักจงเจริญ ที่ถูกลอบสังหารโดยไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ เหตุการณ์ของบิลลี่เป็นเชื้อไฟให้คนรุ่นต่อไปอย่างแบงค์ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ลุกขึ้นมาสานต่อเจตนารมณ์ของคนรุ่นก่อน

“เราลงมาอยู่ที่นี่ เห็นสภาพของพื้นที่ที่ไม่สามารถทำกินได้ ลงไปอยู่ในเมืองคนรุ่นใหม่อย่างพวกผม ก็ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ทำให้ผมนึกถึงภาพตอนที่อยู่ข้างบน มันมีความเป็นพี่น้อง มีความเป็นคนมากกว่า เราจึงต่อสู้เพื่อกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน”

แบงค์ได้เล่าต่อว่า ตอนที่ชาวบางกลอยถูกให้อพยพลงมา ทางภาครัฐให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 7 ไร่ รวมทั้งจะดูแลเรื่องอาหารการกินใน 3 ปีแรก

“มันมีถ้อยคำที่บอกว่าให้ลองมาอยู่ดูก่อน” แบงค์เล่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ให้กลับขึ้นไป” 

แต่ในความเป็นจริงนั้นชาวบ้านที่ลงมาได้พื้นที่กันไม่ครบทุกคน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เรื่องอาหารการกินก็ได้รับการดูแลเพียงแค่ 1 เดือน ด้วยข้าวสารและมาม่า ที่สำคัญคือชาวบ้านบางกลอย ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปอยู่อาศัยที่บางกลอยบน และใจแผ่นดินอีกต่อไป จนนำมาสู่เหตุการณ์เผาบ้านชาวบางกลอยปี 2554 การตายของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ในปี 2557 และการจับกุมชาวบางกลอยที่ขึ้นไปอยู่อาศัยที่บางกลอยบนในปี 2564

เรื่องราวในค่ำคืนนั้น ตามมาด้วยคำถามมากมายจากเครือข่ายฯ ที่ขึ้นไปรับฟังเรื่องราวของชาวบางกลอยเป็นครั้งแรก หลายคนทำงานขับเคลื่อนในประเด็นอื่นๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ, ผู้ใช้สารเสพติด, ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี, แรงงานข้ามชาติ สิ่งที่ทุกคนทำได้เหมือนกันในค่ำคืนนั้นคือการรับฟัง รวมทั้งทำการจุดเทียนเพื่อให้กำลังใจชาวบางกลอย ก่อนที่ค่ำคืนจะจบลง ด้วยบทเพลงกลอยใจที่ขับร้องโดยน้ำ คีตาญชลี

“กลอยเอ๋ย กลอยใจ คอยใครคนหนึ่งคืนกลับมา

คอยเอ๋ย คอยใคร คอยใจที่หายไปให้เติมต่อ

เฝ้าคอยหัวใจให้เต็มดวงให้ความรักเราจงเจริญ”

พบกันใหม่ ในสักวันที่บางกลอยได้กลับบ้าน

ยามเช้าของหมู่บ้านถูกปกคลุมไปด้วยหมอกและน้ำค้าง ภายใต้บรรยากาศเงียบสงบ เด็กน้อยทยอยเดินกันไปโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน บ้านโป่งลึก ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มมีความสุข


การเดินทางสำรวจหมู่บ้านของพวกเรา เริ่มต้นขึ้นหลังอาหารเช้าในเวลา 9 นาฬิกา อภิสิทธิ์ เจริญสุข หรือชิลี่ เพื่อนสนิทที่ร่วมทำงานขับเคลื่อนมากับบิลลี่ พาพวกเราไปดูพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านบางกลอย


ชิลี่เล่าว่าพื้นที่หลายส่วนเป็นเนินเขาจึงยากต่อการเพาะปลูก จะมีเพียงผู้โชคดีไม่กี่คนเท่านั้น ที่ได้รับพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกข้าว ส่วนที่เหลือนั้นต้องทำการปลูกกล้วยน้ำว้า และสำหรับคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ก็ต้องไปทำงานที่โรงงานทอผ้า ภายใต้โครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระเพื่อรับค่าแรง 120 - 130 บาท ... ซิลี่เล่าว่าถ้าเทียบกันแล้ว คุณภาพชีวิตเมื่อครั้งที่ชาวบางกลอยอาศัยอยู่ ณ บางกลอยบนและใจแผ่นดิน พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากใคร

ถัดจากนั้นพวกเราได้เดินไปพูดคุยกับพะตีนอแอะ มิมี ลูกชายของปู่คออี้ ที่กำลังนั่งทำสวนเล็กๆ อยู่ที่หลังบ้านของเขา แม้ว่าขาของเขาจะลีบเล็กจนไม่สามารถเดินได้

“ปลูกข้าวไว้ในสวนหลังบ้าน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมไว้ เพราะถ้าเราไม่เก็บไว้ต่อไปเราจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์”

พะตีนอแอะในวัยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก แต่เขากลับบอกว่าไม่เคยต้องการความช่วยเหลือใดๆ ขอเพียงแค่ได้กลับไปอยู่บ้านที่ใจแผ่นดิน พะตีนอแอะคือสัญลักษณ์ของคนที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ ด้วยการที่เขาเลือกที่จะไม่รับเงินผู้สูงวัยและผู้พิการจากภาครัฐ โดยให้เหตุผลว่า

“ผมไม่ต้องการเอาเงินของคนอื่นมาใช้ ผมสามารถดูแลตัวเองได้ สมบัติที่พ่อแม่ให้ผมมาคือบ้านที่อยู่ข้างบน แต่ในเมื่อผมอยู่ตรงนี้เหมือนถูกรังแกจากรัฐ ก็ไม่ต้องเอาอะไรมาช่วย เพื่อที่จะทำให้ผมได้อยู่ตรงนี้”

ก่อนที่จะต้องบอกลากับพะตีนอแอะ รวมทั้งบอกลาหมู่บ้านบางกลอยในช่วงบ่าย ในนามของเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ได้มอบสิ่งของยังชีพจำนวนหนึ่งให้กับชาวบ้านบางกลอย รวมทั้งได้รับการผูกข้อมือจากผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้าน

มีคำกล่าวหนึ่งก่อนการเดินทางกลับออกมาจากน้ำ คีตาญชลี กลุ่มภาคีSaveบางกลอย ที่ได้กล่าวว่า  “คนเราควรมีสิทธิเลือก เราคนเมืองยังมีสิทธิเลือกเลยว่า เรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานที่บ้าน หรือจะอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่เคยมีใครตัดสิทธิ์พวกเราในเรื่องนี้แต่ทำไมคนบางกลอยจึงถูกตั้งคำถามอยู่ตลอด กับการกลับขึ้นไปอยู่ที่บ้านของพวกเขาหรือการอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่คำถามที่ชาวบ้านต้องตอบ เพราะเขาถูกขโมยบ้านไปจากภาครัฐ”

รถกระบะแล่นโครงเครง ไกลออกจากหมู่บ้านบางกลอย ในระหว่างทางมีไร่สวนของชาวบ้านประปรายอยู่เป็นหย่อมๆ ภายใต้พื้นที่อันกว้างใหญ่ของผืนป่าแก่งกระจาน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าคนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ในขณะที่อีกฝั่งใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามานับหลายร้อยปี

แต่ละฝ่ายมีเหตุผลและความเชื่อของตนเอง แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต่างเชื่อและหวังเป็นสิ่งเดียวกัน คงเหมือนคำกล่าวของพะตีนอแอะ ที่บอกว่า “อยากกลับบ้าน”


รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง