ในทุก ๆ วันมีข่าวทำร้ายร่างกายจำนวนมาก ข่าวนายจ้างการล่วงละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ข่าวตำรวจทำร้ายภรรยา ข่าวครูล่วงละเมิดทางเพศหรือลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ข่าวทหารฝึกซ้อมและทำโทษโหดจนเกิดอันตราย
เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หน่วยรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ หนึ่งในภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือ จากกรณีบุคคลากรในสังกัดข้าราชการสายกลาโหม ถูกผู้มีตำแหน่งสูงกว่าบังคับให้ใช้ยาเสพติดและมีเพศสัมพันธ์จนได้รับอันตรายแก่ร่างกายและสภาพจิตใจ
กรณีข้างต้นนี้ ทำให้เรานึกถึงรูปแบบการปกครองของรัฐแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ การรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) ... ในทางการเมือง การรวมศูนย์อำนาจ เป็นการรวมอำนาจตัดสินใจในภารกิจหลักของรัฐ เช่น กำลังทหาร ตำรวจ การบริหารราชการส่วนกลาง และเป็นการบังคับบัญชาไล่ผ่านยศศักดิ์ มีชนชั้นสูงต่ำ (Hierarchy)
หากว่ากันตามหลักการ "ศูนย์อำนาจ" อาจทำให้ง่ายต่อการปกครองดูแลคน เพราะมันทำให้เกิดเอกภาพ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเสมอภาค และถือเป็นการสร้างมาตรฐานในสังคม
แต่โลกความจริงไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น การรวมศูนย์อำนาจที่ผิดพลาดมีให้เห็นเสมอ อำนาจการตัดสินใจมากองรวมอยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ในมือคนไม่กี่คนแต่กำหนดทิศทางคนหมู่มาก การทำงานมีกฎระเบียบเคร่งครัด และแก้ไขปัญหาได้ช้า เพราะมีลำดับขั้นตอนเยอะ
และมันก็อาจนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกไม่ควร หากคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากจนอยู่เหนือความเป็นคนและสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น และอำนาจนั้นก็ก่อให้เกิดความรุนแรง…
การรวมอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียวไม่ได้มีอยู่แค่ในการเมืองระดับประเทศอีกต่อไป เมื่อเรามองเห็นลักษณะคล้าย ๆ กันได้ในสังคมที่มีลำดับชนชั้น หรือมีความไม่เท่าเทียม เช่นในแวดวงทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ครู ครอบครัวปิตาธิปไตย รวมไปถึงในหน่วยงานที่ ‘อำนาจ’ เข้ามามีบทบาทในการปกครอง จนปรากฎเหตุร้ายแรงปรากฎบนหน้าข่าวอยู่บ่อยครั้ง
เเม้เรื่องของ "อำนาจ" ไจะไม่ใช่สาเหตุใหญ่หรือสาเหตุเดียวที่เป็นต้นตอของปัญหา ทว่าความรุนแรงที่เกิดขี้นในทุกครั้งกำลังสะท้อนให้เห็นว่า สังคมของเราซุกซ่อนรูปแบบการปกครอง (ไม่ว่าในสังคมระดับย่อยหรือใหญ่) เช่นใดเอาไว้ และเราตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงที่มีเหยื่อจำนวนมหาศาลนี้อย่างเอื่อยเฉื่อยมากเพียงไร
จากกรณีตัวอย่างเรื่องร้องเรียนที่มูลนิธิฯ เข้าช่วยเหลือนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาก้อนโต แต่ละข่าวที่ผ่านเข้ามาและพ้นไป เราอาจไม่ได้เป็นตัวละครเอกอยู่ในนั้น แต่เราอยู่ภายใต้สังคมโลกรูปแบบเดียวกันกับพวกเขาแน่ ๆ เช่นกันกับวิธีการแก้ปัญหาที่มักเลี่ยงการระบุหรือแก้ไขที่องค์กร สถาบัน เพียงเพราะกังวลจะนำมาซึ่งการ "เสื่อมเสียชื่อเสียง"
ปฏิกิริยาของเราทุกคนและหน่วยงานทุกภาคส่วน จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความยุติธรรม แต่ในเมื่อตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถูกพิสูจน์แล้วว่า ผู้มีอำนาจเหนือมักได้รับเอกสิทธิ์ในการรอดพ้นจากการลงโทษที่เป็นธรรม ดังนั้น การมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ภาคประชาชนพยายามเสนอ จึงเป็นหนึ่งนทางเลือกของทางออก
เพราะในรายละเอียดเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ มุ่งเน้นในหลักการ "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะปลอดจากการถูกเลือกปฏิบัติ" โดยระบุนิยามการกระทำที่เข้าข่ายเลือกปฏิบัติไว้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทั้งการเลือกปฏิบัติทางตรง ทางอ้อม การล่วงละเมิด ล่วงเกิน คุกคาม ก่อความเดือดร้อนรำคาญด้วย
นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดความรับผิดชอบและบทลงโทษต่อหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่กระทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่ละเลยที่จะมีคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ถูกเลือกปฏิบัติ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า กฎหมายขจัการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดขึ้ในประเทศนี้ จะเป็นหนึ่งทางออกเพื่อช่วยป้องปราม "อำนาจ" ที่ถูกใช้ผิดที่ผิดทางได้ด้วยเช่นกัน
ปล.ท่านที่สนใจรายละเอียดสามารถศึกษา ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (ฉบับภาคประชาชน) ได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1vCn5xaZF-RZZQXgTS_pYzMcyi68ZnnBb/view?usp=sharing