15 พ.ย.66 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลได้จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของประชากรกลุ่มต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ร่วมรับฟัง
โดย เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ) ได้มีส่วนร่วมในการส่งตัวแทนสะท้อนสียงความต้องการ คือ คุณสุนทร สุขชา จากสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย คุณกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย คุณเสถียร ทันพรม จากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และ คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
ช่วงต้นนั้น ตัวแทนจาก ‘มูฟดิ’ ได้ให้ความเห็นเจาะจงถึงรัฐธรรมนูญหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 “บุคคลย่อมเสมอกันใน กฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”
แต่ข้อสังเกตของ สุนทร สุขชา พบว่าในมาตร 27 วรรคท้าย โดยเฉพาะวรรค 3 และวรรค 5 นั้น ระบุข้อความสวนทางกับเจตนารมณ์ ที่จะให้ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยขอให้ตัดข้อความที่จะทำให้เกิดการตีความนี้ออกเสีย โดยข้อความทั้งหมดที่ปรากฏและขอให้ตัดมีว่า
‘มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม’
ทั้งสุนทร และ กิตตินันท์ ให้ความเห็นในทางหลักการว่า “ไม่มีการเลือกปฏิบัติไหนที่เป็นธรรมทั้งนั้น และการเปิดข้อความช่วงท้ายไว้ อาจเป็นช่องว่างให้หน่วยงานรัฐเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ด้วยวิธีการเลี่ยงการกระทำหรือระบุการกระทำต้องห้ามตามกฎหมายเฉพาะขึ้นมาได้”
เช่นกันกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ ก็อยากจะให้แก้ไขเพิ่มเติมคำว่า เพศสภาพและวิถีทางเพศเข้าไป และต้องไม่ละเลยและอย่าทิ้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมและกฎหมายรับรองเพศสภาพและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันช่วงท้ายของการแสดงความคิดเห็น สุนทร สุขชา ได้เป็นตัวแทนในการมอบหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ผ่านทางรองนายกรัฐมนตรีจากกรณีที่ ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ (ภาคประชาชน) ที่ยังคงค้าง รอการลงนามให้การรับรองของนายกรัฐมนตรี ที่ยังไร้วี่แวว ไม่มีท่าทีความคืบหน้า ราวกับรัฐบาลใหม่ไม่ได้สนใจปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ การลิดรอนเสรีภาพและการเลือกปฏิบัติ โดยการส่งหนังสือไปถึงนายรัฐมนตรีนี้มีจุดหมายเพื่อ ขอให้นายกได้ดำเนินการให้การรับรองร่างพระราชบัญญัติฯฉบับดังกล่าวตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายเสียที