ตลอดทั้งวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยตัวแทนผู้ปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มประชากรหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้ยาเสพติด พนักงานบริการทางเพศ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำแท้งปลอดภัย และกลุ่มชาติพันธุ์ ออกเดินสายเข้าพบหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ เพื่อมอบ “คู่มือสื่อไม่เลือกปฏิบัติ”
สืบเนื่องจากสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติในประเทศไทยนั้น สื่อมวลชนมีอิทธิพลทั้งเชิงบวก และในทางลบ โดยเฉพาะการมีความสัมพันธ์กับผู้บริโภครับสารทั้งทาง “ชี้นำ” และ ”ผลิตซ้ำ” ซึ่งสร้างความเกลียดชัง ให้เกิดการเหมารวมและตีตรากลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย จนกลายเป็นการสืบต่อสานสร้างวงจรให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติอยู่ยงไร้วันจบสิ้น
ในช่วงเช้า เริ่มต้นที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สำนักงานห้องบงกช โรงแรม เดอะ โรยัล ริเวอร์ โฮเทล โดยมี คุณชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหารสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทำหน้าที่รับมอบคู่มือพร้อมให้ความเห็นว่า
“สภาฯยินดีให้ความร่วมมือ กับเครือข่ายฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สื่อทำหน้าที่ผิดเพี้ยน มีแนวโน้มไปตีตราใครผู้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง ควรเป็นกลุ่มแรกที่เดินเข้าไปร้องเรียน หรือพูดคุยกับสื่อนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาหากไม่เกิดเหตุการณ์หรือกรณีตัวอย่างขึ้น สื่อเองก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่ตนทำดีอยู่แล้วทั้งในทางการนำเสนอและการได้กระแส อย่างไรก็ตาม เราก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในส่วนที่ทำได้”
จากการบอกเล่าของผู้อำนวยการบริหารสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้พูดถึงเรื่องร้องเรียนที่เคยได้รับ และดูมีแนวโน้มรุนแรง สภาการสื่อมวลชนฯ มีเคยมติว่าผิด และขอให้ลงประกาศขอโทษในสื่อนั้น … แต่ในปัจจุบัน หากเป็นเว็บไซต์หรือสื่อใหม่ที่ทั้งเป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกสภาฯ เวลาเจอปัญหาและเรามีการว่ากล่าวตักเตือน วิธีการง่ายที่สุดของสื่อนั้น ๆ คือ ลาออกจากการเป็นสมาชิก
หลังจากนั้นเครือข่ายฯ ได้เคลื่อนสู่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)โดยได้มีพื้นที่พูดคุยถึงรูปธรรมการทำงานของสื่อที่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ อาทิ คุณสุนทร สุขชา ผู้แทนจากสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาเรื่องสื่อทีเกิดขึ้นกับคนพิการว่า
“ปัญหาที่เกิดกับคนพิการในเรื่องสื่อมีหลายมิติ ทั้งอุปสรรคการเข้าถึง และการที่ถูกทำให้เป็นตัวตลก เป็นคนน่าสงสาร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการทางสติปัญญา ถ้ามีการดูแลเรื่องนี้ในทางจริยธรรมจะช่วยเป็นการพัฒนาวงการสื่อมวลชนในประเทศได้มาก”
ขณะที่ ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยคุณเกรียงไกร ชีช่วง กล่าวถึงสถานการณ์ต่อเรื่องนี้ว่า “ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุในทางไม่ดี ข่าวมักลงแบบเหมารวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ม้งค้ายา แม้วเผาป่า หรือชาติพันธุ์นั้นชาติพันธุ์นี้ ทั้งที่พฤติกรรมที่เกิดนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ก็ไม่สนใจจะลงว่าเป็นนายคนนั้นคนนี้ จนเกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างมาก ... รวมทั้งการสื่อสารทางนโยบายที่มุ่งเน้นนโยบายของรัฐที่ทำให้คนชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกลุ่มที่ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน และคนซึ่งอาศัยในป่า”
ซึ่ง คุณรมิดา ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ในฐานะผู้แทนรับมอบคู่มือสื่อไม่เลือกปฏิบัติได้ร่วมกล่าวถึงสถานการณ์สื่อกับการตีตราและเลือกปฏิบัติว่า
“กสทช.มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และการนำเสนอข้อมูลของสื่อโดยตรง รวมทั้งตอนนี้เรามีฐานข้อมูลในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ หากมีความรุนแรงในการออกอากาศและมีกฎหมายควบคุม กสทช.จะช่วยดู เพราะเป็นหน้าที่เราที่จะต้องดูแลการปฏิบัติงานของสื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องยึดโยงกับการพิจารณาต่อใบอนุญาต แต่อย่างทีวีดิจิตอลกว่าจะต่ออายุคือ 15 ปี ครั้ง มันนานมาก แล้วตามกฎหมายแม้มีโทษแต่การปรับก็เป็นจำนวนน้อย ส่วนอีกระดับเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ กสทช.จะทำหน้าที่ช่วยกำกับ และส่งเสริมความรู้เข้าใจ ดังนั้น โดยส่วนตัวหากมีกรณีตีตรา หรือเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น ก็อยากให้ใช้ช่องทางร้องเรียนทั้ง 3 ส่วน คือ ตัวช่องทางที่กระทำ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ และ กสทช.เอง”
นอกจากนี้ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง ยังมีท่าทีสนับสนุนการกระจายข้อมูลให้สื่อมวลชนได้รับทราบถึง แนวทางการปฏิบัติที่จะไม่เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งยินดีมีส่วนร่วมในการทำงานกับเครือข่ายฯ ในระยะต่อไป
และในช่วงบ่ายของวันเดียวกันเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติได้เดินทางต่อไปที่ G Village Bangkok เพื่อพูดคุยกับ คุณนุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์การตีตราในสื่อบันเทิงเริ่มจาก คุณสุไลพร ชลวิไล จากกลุ่มทำทางซึ่งทำงานเพื่อสื่อสารถึงสิทธิในการทำแท้งปลอดภัย กล่าวว่า
“เรื่องการทำแท้งทั้งในสื่อบันเทิง หนัง ละคร ซีรีย์ แม้กระทั่งกระแสข่าวเอง ยัดเยียดให้ประเด็นนี้ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องเลวร้าย ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นถูกกฎหมาย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐด้วย ซึ่งสื่อที่ออกมาทั้งบรรยากาศสถานบริการที่ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นมิตร มีเรื่องของเวรกรรมและผีเด็กไปเกี่ยวข้องนั้น ไม่เคยมีการสื่อสารในมิติอื่นเลย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับประเด็นที่ผู้ใช้ยาเสพติดเจอ”
ขณะที่ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นผู้ที่มีความหลากลายทางเพศและพนักงานบริการ ร่วมสมทบเรื่องราวว่า “ประเด็นผู้ใช้ยาเสพติดก็เช่นกัน แม้ปัจจุบันจะมีงานศึกษาแจ่มชัดว่า มีผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนมากที่อยู่ในภาวะซึ่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยใช้ยาเพื่อการสันทนาการหรือความรื่นรมย์ทางเพศ แต่ทุกครั้งคราวที่มีปัญหาในสังคมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม มักถูกเชื่อมโยงว่าผู้กระทำ หรือผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่เมื่อมีการพิสูจน์แล้วก็พบว่า ยาเสพติดไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่นำเสนอเลย ... เช่นกันกับที่ภาพลักษณ์ของคนใช้ยา ก็ยังเป็นภาพหดหู่ ทรุดโทรม ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเหมารวมไม่ว่าปัญหาอะไร ๆ ก็โยนให้ต้นตอมาจากยาเสพติดเจอ
ต่อเรื่องนี้นั้น นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้ให้การสนับสนุนเครือข่าย เนื่องจากที่ผ่านมาสมาคมพยายามนำเสนอประเด็นทางสังคมมาโดยตลอด และให้ความเห็นว่า
“สื่อภาพยนตร์เราเองก็มีการเรียนรู้ ปรับตัว และร่วมสะท้อนภาพสังคมมาโดยตลอด และยินดีที่จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อสมาชอกผู้ผลิตภาพยนตร์ แต่ในสื่อโทรทัศน์ของวงการบันเทิงเองก็มีกองเซ็นเซอร์ที่คอยทำงาน บางประเด็นสามารถสอดแทรกหรือป้องปรามกันได้ ในเชิงข้อเท็จจริงแต่หลายครั้งประเด็นทางสังคมบางประเด็นที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนก็อาจไม่ผ่านการอนุญาต ... ถึงแม้จะพูดแบบนี้แต่ก็ต้องให้ความหวังว่า มันเริ่มเกิดขึ้นแล้วในกลุ่มผู้กำกับหรือคนเขียนบทที่เป็นอิสระ แต่เรื่องราวเหล่านี้หากอยากให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และนำไปสู่การผลิตสื่อด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ตีตราหรือเลือกปฏิบัติ อาจต้องทำให้ต่อเนื่องหลากหลาย และครอบคลุมทั้งสื่อกระแสหลักและหระแสรอง ที่การนำเสนอมันสอดคล้องและสามารถสะท้อนนโยบายที่อาจสร้างผลกระทบของรัฐได้ด้วยเช่นกัน
และสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์หรือคนทำงานสื่อนั้น ๆ ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติคือการแสดงความคิดเห็น(comment) ในช่องทางต่าง ๆ ที่เขามี หรือเขาเปิดให้แสดงความเห็น นั่นจะเป็นการสะท้อนเสียงโดยตรงของผู้ได้รับผลกระทบ“
การเดินสายเข้าพบหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ เพื่อเสนอคู่มือสื่อไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดทั้งวันนี้ นอกจากได้มอบคู่มือเพื่อเป็นแนวทางการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูลต่อสื่อมวลชนแล้ว ยังเป็นไปเพื่อหารือถึงความร่วมมือและแนะนำการทำงานของ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ ด้วย โดย คุณจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในฐานะหน่วยงานเลขาของเครือข่ายฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า
“การทำงานของเครือข่ายเพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้น ทำผ่าน 3 ยุทธิวิธีหลัก คือ เสนอให้ประเทศไทยมี ‘กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล’ พร้อมดำเนินกิจกรรมร่วมกับกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อลดการตีตราตนเองรวมทั้งสร้างการเรียนรู้ข้ามเครือข่าย และสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามาหาหน่วยงานต่าง ๆ ในวันนี้ คือ การสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรี ลดอคติการตีตราโดยกการทำงานสื่อสารสาธารณะ และร่วมมือกับสื่อมวลชน สถาบันสื่อ และหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ”