“ผมไม่ต้องการอะไรพิเศษเพราะความพิการ ผมต้องการลบภาพความพิการออกจากตัวผมไป”
คือคำกล่าวของชายวัย 54 ปี รูปร่างแข็งแรงที่นั่งอยู่บนวีลแชร์ บริเวณทางเท้าใต้สถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เขากำลังอธิบายถึงปัญหาทางเท้าที่ไม่ได้คำนึงถึงคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ มีอาชีพหลักเป็นโปรแกรมเมอร์ หนึ่งในทีมพัฒนาภาษาไทยโปรแกรม Microsoft Office เขาจบการแข่งขันวิ่งมาราธอนบนสองล้อวีลแชร์ และเป็นเจ้าของเพจ ‘Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม’ ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการมากล่าว 10 ปี โดยมานิตย์มีความฝันว่า
“ผมอยากเห็นเมืองที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คนพิการไม่ใช่คนพิการ แล้วเดินทางออกจากบ้าน ไปใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง”
มานิตย์เริ่มเดินลัดเลาะไปตามทางเท้า พร้อมกับเล่าเรื่องราวชีวิตการทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของคนพิการ บทสนทนาที่เต็มไปด้วยอุปสรรคระหว่างทางเดินในสังคมไทย ที่ยังคงมีเจตคติมองคนพิการไม่เท่ากับคนทั่วไป
“คนกลายเป็นคนพิการในประเทศไทย เพราะสภาพแวดล้อมบีบบังคับ เขาไม่ได้รู้สึกแย่เพราะว่าความพิการ แต่รู้สึกแย่เพราะถูกรุมเร้าจากสภาพแวดล้อม”
มานิตย์เป็นคนที่นั่งวีลแชร์มาตั้งแต่เด็ก แต่เขาไม่เคยมองว่าตัวเองต้องใช้ชีวิตแบบคนพิการ ด้วยค่านิยมเก่า ๆ ว่าคนพิการต้องอยู่บ้าน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมพิเศษที่มีคนคอยช่วยเหลือ ตรงกันข้ามมานิตย์เลือกที่จะออกไปเผชิญโลกกว้างเหมือนคนปกติ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่ จังหวัดหนองบัวลำภู ครอบครัวไม่อยากให้เขาเรียนต่อ และไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถ แต่มานิตย์บอกว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากเป็น
“แม่ไม่ให้เรียนต่อ เพราะผมเป็นคนพิการ เขาจะให้ผมไปเป็นช่างซ่อมรถ แต่ความฝันผมไม่ได้อยากเป็นช่างซ่อมรถ ผมมีเป้าหมายชัดเจน ว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์”
มานิตย์เดินทางออกจากบ้านมาศึกษาต่อที่โรงเรียนพระมหาไถ่ จังหวัดชลบุรี เขาเลือกเรียนด้านคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งจบการศึกษาและตัดสินใจออกมาทำงานบริษัทเอกชน
“สำหรับผมในโรงเรียนพระมหาไถ่ฯ มันไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง แต่คือศูนย์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนพิการ ผมบอกตัวเองว่า ‘กูต้องออกไปตะลุยโลกกว้าง’” มานิตย์เริ่มทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ด้วยเงินเดือน 9,000 บาท แต่เขาต้องเสียค่าแท็กซี่ในการเดินทางไปกลับวันละ 300 บาท บริษัทที่เขาทำงานเป็นบริษัทขนาดเล็ก จึงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับมานิตย์ทั้งลิฟต์และห้องน้ำสำหรับคนพิการ ประสบการณ์เหล่านี้ที่เขาเจอมา เป็นแรงผลักดันให้เขาอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
“น้องในที่ทำงานต้องคอยยกผม ขึ้น-ลงบันได ที่บริษัทห้องน้ำคนพิการก็ไม่มี ผมต้องไปฉี่ข้างตึก ความเดือดร้อนที่ผมเจอมาทั้งชีวิต คือแรงผลักดันให้ผมลุกขึ้นมาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม”
มานิตย์ก่อตั้งเพจ Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม ในปี 2014 ชื่อดังกล่าวมีความหมายว่า พื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระทั้งด้านกายภาพและจิตใจ ภารกิจแรกที่ทำให้ชื่อของมานิตย์เป็นที่จดจำ คือการเรียกร้องที่จอดรถให้กับคนพิการ และการเรียกร้องให้สถานีรถไฟฟ้าทุกสถานีมีลิฟต์สำหรับคนพิการ
“ทุกการกระทำของผมมีเป้าหมาย ผมทำงานมานานขนาดนี้ ทุกสิ่งที่ผมคิดและทำมีที่มาที่ไป”
มานิตย์เล่าถึงการขับเคลื่อนของเขา ที่มีคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ครั้งหนึ่งเขาเคยประท้วงด้วยการชกกระจกลิฟต์บีทีเอส เขาเล่าให้ฟังว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้องการให้เขาเซ็นชื่อก่อนเข้าใช้บริการ เขามองว่าสิ่งนี้ทำให้เขากลายเป็นคนพิเศษ ที่แตกต่างจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าคนอื่น
“ผมต้องเดินทางได้แบบคุณสิ ให้ผมเซ็นชื่อทำไม” มานิตย์กล่าวกับผู้จัดการสถานีรถไฟฟ้า ก่อนที่เขาจะตอบกลับมานิตย์มาว่า
“ถ้าคุณไม่เซ็นชื่อ ก็ไม่สามารถเดินทางได้”
มานิตย์จึงตัดสินใจเลือกซื้อตั๋วเดินทางในราคาปกติ เมื่อเขาซื้อตั๋วเรียบร้อยและกำลังเดินไปขึ้นลิฟต์ ปรากฏว่า ลิฟต์ถูกล็อกไม่สามารถใช้งานได้ เขาจึงเลือกแสดงออกด้วยการชกกระจกลิฟต์บีทีเอส
“คุณคิดว่ามันไม่กดดันผมเหรอ ผมมีงานสำคัญแต่ต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ มันเป็นการถูกสะสมปัญหามาตั้งแต่อดีต ด้านหนึ่งมันทำให้เกิดความกดดัน แต่อีกด้านผมก็ใช้แรงกดดันเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อน”
อย่างไรก็ตามมานิตย์ยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องการให้สังคมหันมาใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้มากกว่านี้ ไม่ใช่มองคนพิการด้วยความสงสารหรือเป็นเรื่องของเวรกรรม
“เจตคติของสังคมไทย มองว่าความพิการเป็นเรื่องโชคไม่ดี เพราะชาติที่แล้วทำบาปไว้ ชาตินี้จึงเกิดมาพิการ”
มานิตย์กล่าวว่างานของเขาไม่ใช่การช่วยเหลือคนพิการ แต่คือการปรับสภาพแวดล้อม เขามองว่าการขับเคลื่อนสิทธิเพื่อคนพิการนั้นทำได้ในหลายมิติ แต่เขาก็ประเมินแล้วว่าสิ่งที่เขาเลือกทำ เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และต้นทุนประสบการณ์ชีวิตที่เขามี
“ผมไม่อยากให้แยกระหว่างโลกคนพิการกับโลกคนปกติ เพราะมันเป็นเรื่องของคนทุกคน คนในสังคมลืมไปว่าพรุ่งนี้คุณตื่นมา ร่างกายคุณเปลี่ยนไปได้ วันหนึ่งคุณต้องแก่ตัวลง อย่างไรก็ต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ผมจึงอยากเห็นโลกใบเดียว ที่ทุกคนสามารถเดินทางได้”
โดยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา มานิตย์ขับเคลื่อนเพื่อสิทธิคนพิการผ่านทาง Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม เขากล่าวว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย เช่น การมีลิฟต์อย่างน้อยฝั่งละหนึ่งตัวในสถานีรถไฟฟ้า ที่จอดรถคนพิการ และเรื่องทางเดินเท้าในหลายพื้นที่
มานิตย์กล่าวว่าคนพิการคือตัวชี้วัดของโครงสร้างพื้นฐานในเมือง ถ้าคนพิการสามารถใช้งานได้ นั่นหมายความว่าคนทุกคนจะสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเมืองได้อย่างเท่าเทียมและได้รับความสะดวกสบาย
“ผมไปวิ่งงานบางแสนมาราธอน ในช่วงท้ายของการแข่งขันตรงเขาสามมุข ผมกำลังเข็นรถอยู่ มีคนมาช่วยผมเข็น เป็นความน่ารักของเขาแต่มันไม่ถูกต้อง ผมซ้อมมาเป็นหมื่นกิโลเมตร จนออกมาแข่งขันได้และเขามาช่วยผมเข็น เขากำลังดึงความภูมิใจของผมทิ้ง ด้วยการมองคนพิการด้วยความสงสาร”
มานิตย์มองว่าการที่สังคมดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสวยงามที่ควรมี แต่ต้องระมัดระวังด้วยว่า การช่วยเหลือนั้นสร้างผลกระทบในระยะยาวต่อคนพิการอย่างไร เขามองว่าการพัฒนาคนที่ยั่งยืนคือคำตอบ ให้คนทุกคนสามารถมีสิทธิที่จะใช้ทุกอย่างได้เหมือนกัน ไม่ว่าสภาพร่างกายของเขาจะเป็นอย่างไร
“เมื่อข้อจำกัดในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ไม่มีแล้ว คนพิการจะกลายเป็นคนธรรมดา กำแพงความพิการจะหายไป”
ในขณะเดียวกันมานิตย์ก็อยากให้คนพิการ มองความพิการเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดว่าตัวเองเป็นคนพิการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ ความคิดเหล่านั้นกำลังลดทอนคุณค่าของตัวเอง ทำให้คนพิการไม่อยากออกไปใช้ชีวิตอย่างคนปกติ
ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานในสังคมก็ต้องเอื้อให้คนพิการอยากออกมาใช้ชีวิต บนพื้นฐานที่ว่าในหนึ่งวัน ที่คนปกติสามารถเดินทาง ใช้ชีวิต ทำกิจกรรมสังสรรค์เข้าสังคมได้ คนพิการก็ต้องทำอย่างเดียวกันได้อย่างไม่มีข้อแม้
“เมื่อมีโอกาสผมมักพูดอยู่เสมอว่าเราเลิกเป็นคนพิการกันเถอะ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา
เรื่องและภาพ โดย : ณฐาภพ สังเกตุ