บทความ
เมื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ใช้ยาเสพติด ถูกคิดว่า "ทำได้" ภายใต้ความถูกต้องของกฎหมาย

การใช้กฎหมายเข้าจับกุมประชาชนโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการสร้างกฎหมายที่เอื้อต่อการละเมิดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบและไม่ได้มีสิทธิพิเศษในสังคม

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน ตำรวจเข้าตรวจค้นประชาชนในที่พักอาศัย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งมาอีกทีว่า มีการใช้ยาเสพติด โดยในขณะจับกุม ผู้ถูกจับกุมอยู่ในสภาพเปลือยท่อนบน และเมื่อสวมใส่กุญแจมือเสร็จก็มีการใช้กำลัง กระชากตัวออกจากบ้าน ลากไปขึ้นรถ ผู้ถูกจับกุมมีการขัดขืนและขอร้องเพื่อจะใส่เสื้อให้เรียบร้อยก่อน แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ยินยอม มีเพื่อนบ้านที่พอจะสังเกตพฤติกรรมดังกล่าวของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซึ่งสถานการณ์นี้ก็ได้รับความเห็นแย้ง 3 ข้อ

1.นี่คือการจับกุมโดยไม่มีหมายค้น และหมายจับแจ้งต่อเจ้าบ้าน หรือบุคคลในครอบครัว เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามากระทำเหตุดังกล่าวได้อย่างไร ?

2.ผู้ถูกจับกุมร้องขอให้ตนเองได้ใส่เสื้อก่อนที่จะออกไปขึ้นรถ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับ และมีการใช้กำลังในการฉุดกระชาก การใช้ความรุนแรงแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ?

3.เราสามารถกำหนดรูปแบบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนให้ดีกว่านี้หรือเปล่า ?

จากข้อคิดเห็นทั้ง 3 นำมาสู่คำถามที่ว่า อำนาจของตำรวจในการเข้าจับกุมประชาชนไม่จำเป็ฯต้องมีขอบเขต ทำได้ทุกอย่างตามอำเภอใจแบบนี้หรือไม่ ?

ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่สามารถติดตาม ไปเยี่ยมบ้าน จับกุมในเขตที่พักอาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว ประชาชนที่ไม่ได้กระทำความผิดหรือยังไม่มีข้อกล่าวหา การที่จะเข้าไปในพื้นที่บ้านของประชาชนได้จะต้องมี “กรณีเหตุจำเป็น” และ “หมายศาล” เท่านั้น

โดยถ้าไม่มีหมายมาแสดง ก็ต้องอธิบายเหตุผลของการจับกุมให้ได้ ต้องอธิบายด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิปกป้องตัวเองในเรื่องคดีความอย่างไร และผู้ถูกจับสามารถสอบถามรายละเอียดทั้งหมดได้ ส่วน “กรณีเหตุจำเป็น” ที่ตำรวจสามารถเข้าไปจับกุมในที่พักอาศัยได้โดยไม่มีหมายศาล หมายถึง กรณีที่เจ้าของบ้านยินยอมด้วยตัวเอง , มีเสียงร้องให้ช่วย , มีการหลบหนีเข้าไป , มีหลักฐานระบุความผิด หรือสิ่งของเอาไว้ใช้กระทำความผิด เช่น อาวุธ , มีพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดซ่อนอยู่ หากเข้าไปช้าสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลาย

และการมี “ความผิดซึ่งหน้า” เช่น ลักทรัพย์ ประทุษร้าย เห็นการจำหน่ายยาเสพติดต่อหน้า โดยเจ้าหน้าที่อาจซุ่มดู หรือค้นแล้วเจอก็สามารถจับได้

ในประเทศไทย หลังจากการเข้าจับกุมในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าหน้าที่สามารถจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้ 3 วัน แล้วค่อยส่งให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้การจับและควบคุมตัวคดียาเสพติดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทย สามารถควบคุมตัวได้ยาวนานถึง 5 วัน โดยไม่พบศาล ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาที่จะต้องพบศาลในผู้ถูกจับคดียาเสพติดออกไปถึง 5 วัน

แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ กลับเป็นการเข้าจับกุมจากในบ้านโดยไม่มีหมาย และดูไม่ได้ตรงกับ “กรณีเหตุจำเป็น”

แม้ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รัฐได้ให้เหตุผลว่า ในระหว่างจับกุมนั้น ผู้ถูกจับกุมกำลังจะหลบหนี จึงต้องดำเนินการโดยใช้ความรุนแรง แต่ทางผู้ถูกจับกุมเองก็ได้ร้องเรียนไปที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่า การจับกุมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? ...แต่ในขณะนี้ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าปรากฎให้มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้เห็น และจำต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

และในเมื่อตัวบทกฎหมายและการใช้กฎหมายมีรอยรั่วเช่นนี้ เมื่อเกิดกรณีถูกจับกุมโดยไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เหมาะควร เรื่องที่ควรรู้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเองเอาไว้ ก็คือ การถูกจับกุมแบบใดก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะถูกดำเนินคดี เพราะจะต้องมีขั้นตอนการสอบสวน เป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล

ดังนั้นแล้ว หากเกิดการจับกุม ผู้ถูกจับกุมที่ต้องการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง ก็สามารถทำได้ดังนี้

1. หากอยู่คนเดียวขณะถูกจับกุม ให้พยายามตะโกนหรือสื่อสารบอกคนที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ ว่า ตัวเองถูกจับกุมตัวแล้ว บอกชื่อ-นามสกุล และให้ช่วยติดต่อเพื่อนหรือญาติที่ไว้วางใจ และถามหาสิทธิของผู้ถูกจับกุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุผลการจับกุม และสถานที่ที่จะถูกพาตัวไป หากตำรวจที่ทำหน้าที่จับกุมไม่ได้ตอบ ก็สามารถยืนยันถามหาสิทธิของตนโดยสุภาพ

2. พยายามจดจำหรือบันทึกเหตุการณ์ว่า ก่อนถูกจับกุมตัวทำอะไรอยู่ ถูกจับกุมโดยใคร มีการใช้กำลังรุนแรงหรือไม่ ถูกพาตัวไปที่ไหน มีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อเล่าให้ทนายความฟังเมื่อมีโอกาส

3. ในขั้นตอนการสอบสวน ต้องยืนยันให้ตำรวจแจ้งสิทธิให้ครบถ้วน ถ้าไม่มั่นใจกับคำถามไหนก็ไม่ตอบเฉพาะคำถามนั้นๆ ได้ เพราะทุกอย่างที่ให้การไปจะถูกบันทึกและใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล

4. ต้องยืนยันสิทธิที่จะมี “ทนายความ” และ “มีผู้ที่ไว้วางใจ” ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือใครก็ตามที่ไว้วางใจ เข้าฟังการสอบสวนด้วย และถ้าหากยังไม่มีทนายความ ก็สามารถแจ้งความต้องการทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้



รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง