บทความ
เสพยา = อาชญากร ?

คดีความเกี่ยวกับผู้ใช้ยาเสพติด ที่สังคมตีตราและกฎหมายบังคับให้รับโทษรุนแรงกว่าเหตุ การเข้าจับกุมผู้เสพยาเสพติดและบังคับให้รับโทษรุนแรงดูจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับสังคมไทยที่มองผู้เสพยาในเชิงลบสุดขั้วมาโดยตลอด คนส่วนมากยังมองว่า พวกเขาทั้งหมดคืออาชญากร แต่รู้หรือไม่ว่า จากคนไทยผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนเกือบ 3 ล้านคน มีผู้ที่ก่อความรุนแรงขึ้นเพียง 2% จากทั้งหมด

5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้ใช้ยาเสพติดรายหนึ่งในความดูแลของมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เล่าว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อยา โดยวานให้น้าของตัวเองเป็นสายล่อซื้อ ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจค้นบ้านในเวลาถัดมา ระหว่างกระบวนการสอบสวนต่อพนักงานสอบสวน เจ้าตัวได้รับข้อกล่าวหา คือ เสพยาเสพติด จำหน่ายยาเสพติด และครอบครองยาเสพติดเพื่อการค้า

จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงนำตนไปฝากขังที่ศาลจังหวัด โดยศาลได้จัดหาทนายขอแรงให้ แต่ด้วยความที่ยังคงไม่มั่นใจในการดำเนินงานช่วยเหลือของทนาย เพราะมีแนวโน้มว่า ทนายต้องการให้เขารับสารภาพเพื่อลดโทษ ทั้งที่ ผู้ถูกจับกุมยืนยันว่า ไม่มีเจตนาครอบครองยาเสพติดเพื่อการค้า มีไว้เพื่อเสพเท่านั้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำทุกวัน โดยยังสามารถทำงานได้เหมือนวิญญูชนทั่วไป ไม่เคยทำร้ายใครหรือก่อเหตุอาชญกรรมใดมาก่อน

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอในการต่อสู้คดีความ เจ้าตัวจึงขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งมีนโยบายรณรงค์ส่งเสริมสิทธิของผู้ใช้ยาเสพติด

สาเหตุของการใช้ยาเสพติดสำหรับแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจเลือกใช้ยาเพราะกลุ่มสังคมรอบข้าง บางคนต้องใช้เพื่อรักษาโรค หรือ บางคนก็อาจใช้เพื่อสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ มูลนิธิฯ จึงมองว่า ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ยังมีผู้เสพยาอีกจำนวนมากที่เราสามารถจำแนกออกเป็นผู้ป่วย ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการบำบัดมากกว่าติดคุก เชื่อว่า การมอบความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ไม่น้อยไปกว่าการทำโทษ และจะทรงพลังกว่าวิธีตีตราเพื่อให้สำนึกผิด

ตอนนี้ มูลนิธิฯ  ได้ช่วยจัดหาทนายความประจำมูลนิธิฯ ให้ผู้ถูกจับกุมรายนี้ โดยประเด็นที่ต้องการต่อสู้ คือ มีการครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพเท่านั้น ไม่ได้ต้องการค้ายา สมควรได้รับโทษน้อยลง และอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานในชั้นศาล

สถานการณ์เช่นนี้ นอกจากสะท้อนวิธีคิดต่อผู้ใช้ยา ยังเผยให้เห็นว่า เมื่อสังคมมองคนกลุ่มหนึ่งในแง่ลบ กระบวนการจับกุมและวิธีปฏิบัติต่อพวกเขาของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะยิ่งเหยียบย่ำซ้ำเติม ตีตรากันต่อไปแม้บุคคลนั้นยังไม่ได้สร้างความเสียหายชัดเจนแต่อย่างใด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมีทางเลือกอื่นให้กับผู้ใช้ยาเสพติด ? เพื่อให้พวกเขามีโอกาสได้รักษาร่างกาย สภาพจิตใจ และใช้ชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนทั่วไปได้

รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง