บทความ
สาวข้ามเพศราชภัฏทั่วประเทศไทย 38 แห่ง แต่งกายตามเพศสภาพรับปริญญาได้

ปักหมุด บันทึกลงจดหมายเหตุกันไปเลยว่า นี่คือปีแรกและเป็นประวัติศาสตร์สีรุ้งหน้าใหม่ของประเทศไทยและวงการการศึกษาที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทย 38 แห่ง เปิดโอกาสให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 66 เป็นต้นไป

โดยบัณฑิตที่มีความประสงค์ในการแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยชุดครุยวิทยฐานะเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ต้องทำการติดต่อ กองพัฒนานักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยตนเอง พร้อมยื่นเอกสารแสดงความจำนงค์ขอแต่งกายตามเพศสภาพ และนำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนในการส่งเอกสารทั้งนี้ จะมีระยะเวลากำหนดในการยื่นแตกต่างกัน ขอให้บัณฑิตทุกท่านติดต่อสอบถามกับทางมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง

รวมไปถึงบัณฑิตที่เคยแจ้งความประสงค์ในการไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากปัจจุบันบัณฑิตเปลี่ยนใจ ประสงค์เข้าร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตรก็สามารถทำได้เช่นกัน ขอให้บัณฑิตติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อสอบถามและดำเนินการต่อไป

(ตัวอย่างแบบฟอร์มคำร้อง เพื่อแสดงความประสงค์ในการแต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร)

ในเรื่องนี้ ชมพิ้งค์  - จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา อดีตนิสิตข้ามเพศ จุฬา ที่เคยเรียกร้องสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพ ปัจจุบันเธอได้ทำเรื่องให้น้องๆบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทย 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต แต่งกายตามเพศสภาพได้ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอว่า

"จากเราที่เป็นอดีตนิสิตข้ามเพศจุฬาฯ ในวันนั้น มาสู่ ชมพิ้งค์ ที่เรียกร้องสิทธิให้น้อง ๆ ในวันนี้ ขอบคุณที่ตัวเราที่ไม่ได้หยุดนิ่ง และยืนหยัดเพียงเพื่อตัวเอง แต่ยืนหยัดเพื่อคนอื่นด้วย ขอบคุณตัวเองที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา และเลือกที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาไปพร้อมกับน้อง ในฐานะคนที่เคยเจอปัญหา เคยผ่านปัญหาได้ เพราะเราเชื่อว่า เราจะไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจในสิ่งที่น้องรู้สึก แต่เรารู้สึกในสิ่งที่น้องรู้สึก และเราจะเป็นคนที่สามารถจับมือน้องเดินไปพร้อมกับเรา ... ที่สำคัญกรอบเพศไม่ควรเป็นสิ่งกำหนดเครื่องแต่งกายอีกต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่เเค่เรื่องความงามความสวย เเต่มันคือตัวตน อัตลักษณ์ความเป็นคนของเรา"

จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ทั่วประเทศต่างเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ นี่ถือเป็นหนึ่งสัญญาณในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียม รวมถึงเป็นการคุ้มครองและส่งเสริมให้บุคคล, ชุมชนคนข้ามเพศและสังคมไทย ก้าวสู่ความเป็นสากลทัดเทียมนานาอารยะประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยตระหนักถึงสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558

รู้จักเราเพิ่มเติม
ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ
  • ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ / เรื่องราวที่คุณเคยเจอหรือพบเห็น เพื่อให้เรานำเสนอต่อสาธารณะ
  • หากเรื่องราวของท่านได้รับการนำเสนอ จะได้รับการติดต่อมอบหนังสือขอบคุณ และติดตามการช่วยเหลือ
บรรยายเรื่องราว เหตุการณ์ โดยย่อ
ผู้แจ้งเบาะแส
หมายเลขโทรศัพท์
แจ้งเบาะแส
หรือร้องเรียนผ่าน Crisis Response System (CRS) ที่ สวัสดีปกป้อง