เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (People's Movement to Eliminate Discrimination : MovED) คือ การรวมกันของภาคประชาสังคม ที่มีการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มประชากรเฉพาะมากกว่า 10 กลุ่ม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง คนพิการ ฯลฯ
โดยรวมกันเพื่อมุ่งลดปัญหาการ "ตีตราและเลือกปฏิบัติ" ในสังคมไทย ผ่าน 4 ยุทธวิธีหลัก คือ
1. สร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนและเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ให้มีความเข้าใจเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ มีความสามารถในการส่งเสียงและจัดการการตีตราเลือกปฏิบัติได้อย่างเข้มแข็ง ทรงพลัง พร้อมทั้งขยายแนวร่วมของเครือข่ายฯให้ครอบคลุมและหลากหลาย
2. สื่อสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย เคารพคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงเฝ้าระวังและโต้กลับการสื่อสารที่เป็นการตีตราเลือกปฏิบัติต่อประชากรเปราะบาง
3. ผลักดันให้ประเทศไทยมี ‘กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล’ ผ่านการระดมรายชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการเข้าชื่อของประชาชนแล้ว 11,790 รายชื่อ และผ่านการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ ก่อนมีการยุบสภา ในปี พ.ศ. 2566
4. รวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูลข้อเท็จจริง เครื่องมือ และหลักสูตรในประเด็นการตีตราเลือกปฏิบัติ ให้พร้อมใช้สำหรับประชาชน ชุมชน และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ
ครั้งนี้ เราจึงอยากชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการลงชื่อเพื่อยืนยันว่า "ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ" ต้องไปต่อ เพื่อให้คุ้มครองให้คนทุกคนปลอดพ้นจากการเลือกปฏิบัติ